มุมมืด – ของผู้สูงอายุ
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 16 กรกฎาคม 2564
ดร. รุจิระ บุนนาค
16 กรกฎาคม 2564

Facebook : Rujira Bunnag

Twitter : @RujiraBunnag

               สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป

               สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)  หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป

              อัตราประชากรโลกนับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2493-2563  ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปค่อยๆ มีแนวโน้มสูงขึ้น ผิดกับจำนวนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปีที่พุ่งต่ำลง

              ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ต่อจำนวนประชากรอายุระหว่าง 20-64 ปีมากถึงร้อยละ 51 ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก  การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุในญี่ปุ่นสวนทางกับความเป็นไปได้ของอัตราการเกิดใหม่ ในปีพ.ศ.2562 อัตราการเกิดทั่วประเทศลดลงต่ำกว่า 900,000 คน  ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่ (super-aged society) มีการคาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2568  ญี่ปุ่นจะมีประชากรผู้สูงอายุ  1 คนต่อประชากรวัยแรงงาน 2 คน  จากสถิติปีพ.ศ. 2562 อายุขัยเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นในผู้หญิง คือ  87.45 ปี  และในผู้ชาย คือ  81.41 ปี   นับว่าสูงมากทั้งสองเพศ

                จำนวนผู้สูงอายุที่มากกว่าคนวัยทำงาน ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในโลกทุนนิยม เพราะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความจำเป็นต้องใช้แรงงานมนุษย์  เมื่อประชากรส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ  ทำให้การจ้างงานลดต่ำลง ผลผลิตจึงลดลงมาด้วย  ขณะที่รัฐยังต้องจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น  เมื่อมาดูสภาพสังคมญี่ปุ่นในปัจจุบันที่อัตราการเกิดต่ำแต่ผู้คนอายุยืนขึ้นจนค่าเฉลี่ยอายุสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าคนรุ่นใหม่ได้แต่ทำงานส่งเงินเข้าระบบ เลี้ยงดูผู้รับเงินบำนาญที่มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

                ญี่ปุ่นให้เงินบำนาญผู้สูงอายุตั้งแต่ปีพ.ศ. 2504 แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ (1) ระบบเงินบำนาญแห่งชาติ คือเงินบำนาญรูปแบบพื้นฐานที่สุด เก็บจากคนที่มีอายุ 20-60 ปี โดยไม่เกี่ยวกับว่าประกอบอาชีพอะไร  (2)  ระบบบำนาญลูกจ้างเอกชน (3) ระบบเงินบำนาญของข้าราชการและสมาคมอาชีพต่างๆ 

                ส่วนเงินที่จะได้รับ ขึ้นอยู่จำนวนเงินที่ได้จ่ายเข้าระบบกันคนละเท่าไหร่ ที่เป็นมาตรฐาน คือ หากจ่ายเงินเข้าระบบอย่างต่ำ 40 ปี จะได้รับเงินจำนวน 800,000 เยนต่อปีหรือประมาณ  240,000 บาท เฉลี่ยประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน

                เป็นธรรมเนียมของชาวเอเชียที่ลูกๆต้องกตัญญูต่อบิดามารดา ผู้สูงอายุบางคนจึงยังคงอยู่กับลูกๆหลานๆ  ดังนั้น เงินบำนาญที่คนสูงอายุในญี่ปุ่นได้ สำหรับบางครอบครัวเปรียบเสมือนรายได้หลักของครอบครัว เพราะสมาชิกในบ้านสามารถนำมาจุนเจือ จับจ่ายใช้สอย แบ่งเบาภาระลูกหลานได้

               เงินบำนาญของผู้สูงอายุของบางครอบครัว ถือเป็นรายได้หลัก ทำให้บางกรณีผู้สูงอายุถึงแก่มรณกรรมแล้ว แต่ครอบครัวไม่ได้แจ้งแก่ทางการ ไม่มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่กลับฝังศพไว้ในบ้าน เพื่อคอยรับเงินบำนาญ มาจับจ่ายใช้สอยต่อไป  ทางการญี่ปุ่นจึงมีการตรวจฐานข้อมูลผู้สูงอายุ และมีการสุ่มไปถึงบ้านว่า ผู้รับบำนาญยังมีชีวิตอยู่หรือไม่  ผลปรากฏว่า ยิ่งตรวจสอบ ยิ่งพบกรณีที่เกิดขิ้น  

               ที่น่าเศร้า คือ ผู้สูงอายุบางคนหนีออกจากบ้าน แต่ลูกหลานไม่ได้แจ้งคนหาย ไม่ได้ติดตามหาตัว แต่ยังคงรับเงินบำนาญเรื่อยๆ  

               ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมากกว่า 6 ล้านคนไม่มีครอบครัว หรือลูกหลานอาจอยู่ห่างไกล ทำให้ต้องอยู่เพียงลำพัง ยังชีพด้วยเงินบำนาญ ถ้าไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ต้องนำเงินบำนาญมาเสียค่าเช่าบ้าน หรือแม้จะมีบ้านพักคนชรา แต่คงไม่สุขสบาย เงินบำนาญที่ได้รับจึงไม่พอเพียงที่จะใช้จ่าย   ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยในสังคมญี่ปุ่น ที่มีความรู้สึกว่าถูกโดดเดี่ยวและมีความเหงา ทำให้ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย  ต้องการหาที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์เหล่านี้ได้ 

                ญี่ปุ่นประสบปัญหาสังคม ที่คนชราหรือผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มคนที่ก่ออาชญากรรม  ในรอบ 10 ปีมานี้ สัดส่วนการก่ออาชญากรรมโดยเฉพาะการลักทรัพย์ของคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มีสัดส่วนมากกว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นอายุ 14-19 ปี

               จากสถิติในปีพ.ศ. 2555  พบว่าจำนวนผู้สูงอายุในกรุงโตเกียว ถูกจับในข้อหาลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน  28,673 คน แต่ตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่ามาก เพราะมีหลายรายที่ไม่ได้แจ้งความไว้ เนื่องจากสงสาร ในขณะที่จำนวนกลุ่มวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ประกอบอาชญากรรมในรูปแบบเดียวกันนั้นอยู่ที่ 19,465 คน   โดยสิ่งของกว่าร้อยละ 70  ที่ผู้สูงอายุลักขโมยจะเป็นของใช้ที่มีราคาไม่สูงมาก  เช่น เสื้อผ้าเก่า จักรยานเก่า หรือเป็นอาหาร หรือของที่ทานได้ เช่น ข้าวปั้น อาหารชุดเบ็นโตะ   ปลาไหลย่าง สาเก ผลไม้  ขนมต่างๆ      

            แม้เวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน   การลักทรัพย์ยังคงเป็นคดีเล็กๆ  แต่ผู้ก่ออาชญากรรมที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 1 ใน 3 เคยก่อเหตุมามากกว่า 5 ครั้ง   การขโมยขนมปังราคา 200 เยนหรือประมาณ 50 บาท มีโทษจำคุกถึง 2 ปี  

              การก่ออาชญากรรมของผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  จากข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่น     กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ต้องหาสูงอายุในเรือนจำไม่มีที่อยู่ ไม่มีรายได้  มองว่าสังคมข้างนอกน่ากลัว  การอยู่บ้านพักคนชราไม่ได้สุขสบาย และต้องการบ้านพักราคาถูก  จึงเชื่อว่า เรือนจำมีอาหารครบ 3 มื้อ มีที่หลับนอน มีเพื่อนๆวัยชราพูดคุยด้วย มีกิจกรรมต่างๆ ทั้งยังมีการตรวจสุขภาพประจำปี   

              เรือนจำในญี่ปุ่นได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและเอกชน มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน   ผู้สูงอายุบางคน เงินบำนาญที่ได้รับอาจไม่พอสำหรับการซื้ออาหารดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ  ติดเครื่องทำความร้อน

เมื่อย้อนนึกถึงประเทศไทย ได้แต่ภาวนาว่า ขออย่าให้เกิดมุมมืดของผู้สูงอายุเลย

Marut Bunnag Copyright @2020

 


Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น