ร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียและไทย
ลงพิมพ์ในเดลินิวส์ : 12 ตุลาคม 2558
ดร. รุจิระ บุนนาค
12 ตุลาคม 2558

ประเทศไทยกลับเข้าสู่บรรยากาศของการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใหม่ อีกครั้ง หลังจากที่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ทำให้เข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่สรรหาประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งจะมาทำหน้าที่แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ภายหลังจากที่สิ้นสุดหน้าที่ลงเมื่อ ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะมีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่าง ๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับ ก็จะจัดทำร่างพระราชบัญญัติขึ้นเสนอต่อสภานิติบัญญัติเพื่อพิจารณาต่อไป แต่ไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่เดิม

ในการสรรหาผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นขั้นตอนที่ยากลำบาก เพราะจะต้องเลือกเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะประธานท่านเดิมคือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ท่านได้สร้างผลงานไว้ดีแล้ว แต่บังเอิญร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ท่านร่างขึ้นไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ จนในที่สุดจึงได้ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ นักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ซึ่งเคยเป็นทั้งอดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และได้ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ รับเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่

การร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดีย จะแตกต่างจากประเทศไทย เพราะจะเป็นช่วงที่ประเทศอินเดียเพิ่งได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษใหม่ ๆ ผู้ที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียคือ ดร.เอ็มเบดการ์ คือ บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ เอ็มเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เป็นชนชั้นอธิศูทรหรือจัณฑาลเกิดในตระกูลที่ยากจน ซึ่งในประเทศอินเดียตามศาสนาฮินดูมีการแบ่งวรรณะเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพทย์ ศูทร ส่วนจัณฑาลไม่ถือเป็นวรรณะ

ในวัยเด็ก ดร.เอ็มเบดการ์ เกิดในครอบครัวที่ยากจนการศึกษาเล่าเรียนก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้ต้องอดมื้อกินมื้อแต่บิดามารดาอยากให้เล่าเรียนสูง ๆ จึงพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อส่งเสียให้ได้รับการศึกษา ด้วยความที่เป็นจัณฑาลถูกบรรดาเพื่อน ๆ และครูที่เกิดในวรรณะที่สูงกว่ารังเกียจแม้กระทั่งไม่ยอมให้นั่งเก้าอี้ ขณะเรียนต้องปูกระสอบนั่งเรียนบนพื้นห้องทุกวัน ตอนกินน้ำก็ต้องให้บรรดาเพื่อน ๆ คอยเทน้ำลงในปาก หากดื่มจากแก้วตรง ๆ ก็เกรงว่าจะเกิดเสนียดจัญไร

แต่ยังนับว่าโชคดีเมื่อครูคนหนึ่งในวรรณะพราหมณ์มีเมตตาคอยหาโอกาสแบ่งอาหารให้รับประทาน และเห็นว่าเขามีความพยายามตั้งใจเรียน สาเหตุที่เขาถูกรังเกียจเพราะเป็นลูกจัณฑาลและนามสกุลก็บ่งบอกถึงความเป็นจัณฑาล จึงได้ช่วยแก้ไขทะเบียนโรงเรียนให้ใช้นามสกุลของครูคนนั้น ซึ่งก็คือนามสกุลปัจจุบันของ ดร.เอ็มเบดการ์ นั้นเอง

ดร.เอ็มเบดการ์ ได้อุตสาหะสามารถเรียนจบชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ และต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งปริญญาเอกจากที่เดียวกัน และปริญญาโทที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ แห่งลอนดอน ในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีปริญญาอีกหลายใบรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ปริญญา เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เคยทำงานเป็นทนายความในศาลสูงของบอมเบย์ (หรือเมืองมุมไบของอินเดียในปัจจุบัน) และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย นับว่าเป็นจัณฑาล คนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

ดร.เอ็มเบดการ์ มีความตั้งใจแน่วแน่ที่ต้องการทำลายระบบวรรณะอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของอินเดีย หลังจากจบการศึกษาจากต่างประเทศก็ได้กลับมายังบ้านเกิด เริ่มต้นด้วยการทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการต่อต้านวรรณะจนมีคนเห็นด้วยจำนวนมาก และยังทำงานด้านการเมืองเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวจัณฑาล และการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษจนได้รับชัยชนะ

ผลงานชิ้นสำคัญของ ดร.เอ็มเบดการ์ คือการเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย หลังจากที่ต่อสู้และรอคอยมาทั้งชีวิต เพื่อต้องการปลดปล่อยคนอินเดียเป็นอิสระจากระบบวรรณะด้วยการเขียนลงในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “ไม่ให้ประชาชนอินเดียเลือกปฏิบัติต่อกันและกันด้วยเหตุผลทางวรรณะ และวรรณะจัณฑาลนั้นก็ให้ยุบทิ้งเสียให้สิ้นซาก”

ดร.เอ็มเบดการ์ เป็นนักต่อสู้เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมของระบบชนชั้นวรรณะและเมื่อทำงานด้านการเมืองแล้ว ต่อมาก็ได้ถวายตัวเป็นพุทธมากะ นับถือศาสนาพุทธ ได้ชักชวน ชาวจัณฑาลเป็นจำนวนมากให้มานับถือศาสนาพุทธ และยังผลักดันให้มีสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เป็นพระธรรมจักรปรากฏที่ธงชาติของอินเดียจนถึงปัจจุบันทั้งที่ชนชั้นปกครองส่วนใหญ่เป็นฮินดู และยังได้นำสัญลักษณ์หัวเสาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติอีกด้วย ได้เขียนหนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลายเล่ม อาทิ เช่น พุทธธรรม (Buddha and His Dhamma) ลักษณะพิเศษของพุทธศาสนา (The Essential of Buddism) เป็นต้น

ทุก ๆ ปี ที่เมืองบอมเบย์ ในวันที่ 6 ธันวาคม จะมีประชาชนชาวอินเดียต่อแถวเป็นคิวยาวหลายหมื่นคน ยาวหลายกิโลเมตร เพื่อเคารพสุสานของ ดร.เอ็มเบดการ์ คนทั่วไปเห็นแล้วย่อมรู้สึกแปลกใจที่มีคนศรัทธามากมายขนาดนั้น นอกจากนี้ที่หน้ารัฐสภาอินเดียยังมีอนุสาวรีย์ของ ดร.เอ็มเบดการ์ ในฐานะ “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” เป็นอนุสรณ์สถาน คงเหลือทิ้งไว้แต่ คุณงามความดีให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สรรเสริญ “จากต้นหญ้าที่ต่ำต้อย สู่ไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา” ด้วยความเพียรพยายามและอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ขณะนี้เรากำลังจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ประเทศไทยเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบบวรรณะ เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกระบบทาสไปนานแล้วซึ่งก็คล้ายกับระบบวรรณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ นับว่าเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลก และมีรัฐธรรมนูญที่มีฉายาที่แปลกที่สุดในโลกคือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 ที่มีการร่างไว้แล้ว แต่ต้องเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่ม เพราะเกรงว่าจะมีผู้มาพบก่อนเวลาอันสมควร รวมทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดในโลกคือ 9 ปี 4 เดือน 17 วัน

หากเทียบกับประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวนับแต่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) ซึ่งมีเพียง 7 มาตราเท่านั้น เพราะผู้ร่างเห็นว่าอนาคตไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเปิดโอกาสให้ตีความและปรับปรุงได้ตามกาลสมัย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมแทนการร่างใหม่ทั้งฉบับ

นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ประเทศไทยกำลังจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง จึงขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประเทศไทยเราจะได้มีรัฐธรรมนูญใหม่ในเร็ววันนี้

Marut Bunnag Copyright @2020

 


Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น