ร้านขายของเก่า
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 6 กันยายน 2557
ดร. รุจิระ บุนนาค
6 กันยายน 2557

เมื่อเดือนเมษายน 2557 ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ร้านขายของเก่าภายในซอย ลาดปลาเค้า 72 กรุงเทพมหานคร เหตุระเบิดครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บอีก 19 ราย นับเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการเก็บของเก่าขาย โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

สาเหตุของการระเบิดครั้งนี้เกิดขึ้นจากร้านดังกล่าวได้รับซื้อระเบิดเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วนำมาตัดเพื่อนำเหล็กมาขาย แต่ระหว่างตัดได้เกิดระเบิดขึ้นทันที ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ นอกจากนี้แรงระเบิดทำให้เกิดหลุมกว้างกว่า 5 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร ส่วนร้านรับซื้อของเก่าถูกเพลิงไหม้เสียหายทั้งหลัง และบ้านเรือนใกล้เคียงรวมถึงรถยนต์ที่จอดภายในซอยได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ตื่นตัวถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น และเริ่มตรวจสอบในการประกอบกิจการร้านขายของเก่า เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก การเปิดร้านขายของเก่ารัฐได้วางแนวทางปฏิบัติในการควบคุมร้านขายของเก่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 และระเบียบราชการของกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลอดและค้าของเก่า พ.ศ. 2533

“ ของเก่า ” ตามกฎหมายหมายรวมถึงทรัพย์ที่เสนอขายแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้รวมถึงของโบราณด้วย นอกจากนี้ การค้าของเก่าจึงแบ่งแยกได้ 4 ประเภท คือ ประเภทโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, ประเภทเพชร พลอย ทอง นาก เงิน หรืออัญมณี, ประเภทรถยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ได้แก่ รถยนต์สาธารณะ รถยนต์บริการ และรถยนต์ส่วนบุคคล, ประเภทอื่น ๆ เช่น รถจักรยานยนต์ ไม้เรือนเก่า ขวด เศษเหล็ก กระดาษ เป็นต้น

ในการประกอบธุรกิจขายของเก่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องได้รับอนุญาตตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และต้องใช้หลักฐานประกอบการขออนุญาต รวมถึงคุณสมบัติของ ผู้ขอใบอนุญาต นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดความผิดกับร้านขายของเก่าที่ไม่ได้รับอนุญาตในการขายทอดตลาดและค้าของเก่า ต้องระวางโทษอาญาจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปัจจุบันร้านขายของเก่าจะเป็นธุรกิจโดยแต่ละจังหวัดมีร้านรับซื้อของเก่าอยู่แล้ว ในระยะ 50 กิโลเมตร ต้องมีประชากร 250,000 คนขึ้นไป ต้องมีเขตที่เจริญตามสมควร มีตึกอาคาร โรงงาน เพื่อให้ได้ของจำพวกเศษเหล็ก ธุรกิจนี้ไม่ใช่เพียงแค่ซื้อมาขายไป แต่เป็นการบริหารจัดการแรงงาน การลงทุน คัดแยกวัสดุ เมื่อเปิดร้านขายของเก่าแล้วไม่เพียงแต่ซื้อเศษเหล็กอย่างเดียว จำเป็นจะต้องซื้อของทุกอย่างเช่น โลหะ, พลาสติก, ยาง หรือ Polymer, เส้นใยพืช, น้ำมันไข และส่วนเกี่ยวข้องอื่นเช่น แก้ว, เศษแก้ว, กระดาษ เป็นต้น

โลหะ ที่กล่าวถึงยังแบ่งเป็น ทองแดง มีหลายชนิดจำแนกตามความสะอาด ใช้ทุนสูงมาก ซื้อขายกันกิโลกรัมละ 200 บาท อลูมิเนียม และโลหะผสมอลูมิเนียม, ตะกั่ว, แบตเตอรี่, สแตนเลส, ทองเหลือง, เหล็ก นอกจากนี้ยังมีโลหะอื่น ๆ ที่มีลูกค้าเจาะจงมาขาย

ปัจจุบันภาพรวมร้านขายของเก่ายังเป็นร้านค้าที่เก็บสะสมของที่ไม่ใช้แล้ว และนำไปปะปนรวมกัน โดยทางร้านจะคัดแบ่งแยกชนิดของวัสดุเพื่อจำหน่ายให้กับโรงงานหรือตลาดที่รับซื้อของเก่านำไปรีไซเคิลเป็นวัฏจักรเพื่อผลิตสินค้าขึ้นใหม่ขายให้กับผู้บริโภค

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้บรรดาร้านขายของเก่าได้เพิ่มความระมัดระวังในการรับซื้อสินค้าที่ลูกค้านำมาขายมากขึ้น มิเช่นนั้นทางร้านขายของเก่าจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต รวมถึงทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายด้วย นอกจากนี้เจ้าของร้านจะต้องถูกดำเนินคดีทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา

รัฐบาลจึงควรเร่งหาวิธีป้องกันหรือให้การศึกษาแก่บรรดาร้านขายของเก่าเพื่อ มิให้เกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุเกิดขึ้นอีก นอกจากนี้ควรเข้มงวดกับร้านขายของเก่าที่เปิดขึ้นโดยผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นในสังคม

Marut Bunnag Copyright @2020

 


Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น