กากแคดเมียม ขยะมหาภัย

ดร. รุจิระ บุนนาค

คอลัมน์ แนวหน้าออนไลน์ กฎ กติกา ธุรกิจ

เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2567

กากแคดเมียมจากโรงงานขนาดใหญ่ที่ถูกฝังกลบทำลาย ตามที่ได้รับอนุญาตในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่จังหวัดตาก ได้ถูกลักลอบขาย จำนวนกว่า 15,000 ตันโดยการขุด และขนย้ายมาที่โรงงานในสมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออะลูมิเนียมแท่ง อะลูมิเนียมเม็ด จากเศษอะลูมิเนียม และตะกรันอะลูมิเนียม บางส่วนขนย้ายไปโรงงานในชลบุรี และโรงงานในกรุงเทพมหานคร

มูลค่าการซื้อขายกากแคดเมียมรวมทั้งค่านายหน้า มีมูลค่าสูงนับพันล้านบาท เพราะเมื่อนำไปแปรรูปและส่งขายประเทศที่สาม จะมีกำไรอีกหลายเท่าตัว

ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครได้ประกาศให้ท้องที่ตั้งโรงงานที่เก็บกากแคดเมียม เป็นเขตภัยพิบัติ และห้ามโรงงานทำการนำมาหลอมผลิตทางอุตสาหกรรม เจ้าของกิจการถูกดำเนินคดีข้อหาครอบครองวัตถุสารอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งสั่งอายัดโกดังดังกล่าว ห้ามผู้ไม่มีส่วนเข้าออก เพื่อรอการจัดการสารแคดเมียมทั้งหมด ส่วนกากแคดเมียมที่ต้นทางในจังหวัดตาก สำนักงานอุตสาหกรรมได้ตรวจสอบและมีคำสั่งอายัดไว้แล้ว ส่วนโรงงานอื่นได้ถูกทยอยประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเช่นกัน

“แคดเมียม” (Cadmium) เป็นธาตุที่มีสถานะเป็นโลหะ สัญลักษณ์ตามตารางธาตุ คือ Cd ที่ไม่ละลายน้ำเมื่ออยู่โมเลกุลเดี่ยวๆ แต่เมื่อจับตัวกับธาตุอื่น อยู่รวมเป็นสารประกอบในสภาวะเสถียร จะละลายน้ำได้ดี (เช่น แคดเมียม คลอไรด์ (CdCl2)เป็นสารพลอยได้ที่เกิดจากอุตสาหกรรมถลุงสังกะสี ทองแดงและตะกั่ว แคดเมียมในประเทศไทยเกิดจากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมถลุงสังกะสี โรงงานผลิตสังกะสีตั้งอยู่ในจังหวัดตาก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบกิจการอุตสาหกรรมการผลิต ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งจำจะต้องใช้สารประกอบแคดเมียมในการชุบเคลือบบรรดาโลหะที่ใช้เป็นส่วนประกอบ เพื่อความแข็งแรงและคงทน หรือผลิตเม็ดสีสร้างความสวยงามในอุตสาหกรรมเซรามิก หรืออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และโดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ต่างๆ ในประเทศไทย

ตามกฎหมายประเทศไทย ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกากอุตสาหกรรมมีอยู่ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีหลักการกล่าวโดยสรุปได้ว่า ผู้ก่อให้เกิดของเสียต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกากอุตสาหกรรมของเสีย จนกว่าผู้รับกำจัดจะดำเนินการจัดการของเสียได้อย่างถูกต้อง

ตามกฎหมาย ดังนั้น หากผู้รับกำจัดนำของเสียของผู้ก่อให้เกิดของเสียไปทิ้งอย่างผิดกฎหมาย ไม่ว่าด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม ผู้ก่อให้เกิดจะมีความผิดไปด้วย

การประกอบกิจการของผู้ก่อให้เกิดของเสียและผู้รับกำจัดนั้น จะต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหากของเสียเหล่านั้นถือเป็นวัตถุอันตราย พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535(โดยเฉพาะสารประกอบแคดเมียม ซึ่งอาจจัดเป็นวัตถุอันตรายตามบัญชี ที่ 5.6 ตามประกาศ อก. เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 2 พ.ศ.2558 ซึ่งการขจัดเป็นกากของเสียโดยวิธีการฝังกลบ จะต้องมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาประกอบ) หากมีไว้ในครอบครอง ไม่ว่าจะเพื่อใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการอุตสาหกรรม หรือครอบครองไว้เพื่อกำจัดก็ตาม ทั้งการใช้ประโยชน์ หรือกำจัดจะต้องเป็นไปตามมาตรการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเสียหาย และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณรัศมีโดยรอบ

ตามประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นได้มีการแพร่กระจายสารพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม จนก่อให้เกิด “โรคอิไต อิไต” ซึ่งปรากฏขึ้นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น แถบแม่น้ำ จินสุ เขตโตยาม่า เนื่องมาจากมีการทิ้งกากแร่จากการทำเหมืองสังกะสีลงในแม่น้ำสายนี้กากแร่ดังกล่าวนี้มีแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ ทำให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำจากแม่น้ำหรือได้รับแคดเมียมทางอ้อมจากแม่น้ำ เกิดเป็นโรคไต กระดูกผุ เจ็บปวดบริเวณหลัง และเอวอย่างรุนแรงมาก ทุกข์ทรมานสาหัส และเด็กเล็กพิการในอัตราสูงผิดปกติจนน่าสลดใจ

กรณี “โรคมินามาตะ” ที่โรงงานผลิตสารเคมีขนาดใหญ่ลักลอบปล่อยสารปรอท ที่เป็นกากอุตสาหกรรมลงอ่าวมินามาตะ ในจังหวัดคูมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปลาที่อยู่ในอ่าวได้รับสารปรอท ชาวประมงได้จับปลาในอ่าวมาขายต่อให้ชาวบ้าน ชาวบ้านที่ทานปลาจึงได้รับสารปรอท มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง รวมถึงมีอาการวิกลจริตแบบอ่อนๆ

ทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดกากแคดเมียมที่ถูกกำจัดด้วยการฝังกลบแล้ว (ตามที่ได้รับอนุญาตในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่จังหวัดตาก) จึงถูกขุดขึ้นมาขายเป็นจำนวนมากถึง 15,000 ตัน และยังสามารถขนย้ายข้ามจังหวัดซึ่งมีระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร กระทำได้อย่างไร หากไม่มีผู้ร่วมกระทำความผิดกันหลายคน และกระทำกันเป็นกระบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำ

การที่ผู้รับจ้างกำจัดกากหรือสารหรือขยะพิษ ได้รับเงินค่าจ้างแล้วกลับไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน หมกหรือเก็บสารพิษดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงผลเสียและอันตราย ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และมีหลายคดี ค่าใช้จ่ายสำหรับการกำจัดสารพิษ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในภายหลังจะสูงมาก ผู้ที่กระทำความผิดเองก็ไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ ส่วนใหญ่จะติดตามตัวให้มารับผิดชอบไม่ได้กลับกลายเป็นภาระของสังคมส่วนรวม

กรณีปัญหาสารพิษและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพราะกฎหมายไม่เข้มแข็ง หรือล้าสมัยแต่เป็นเพราะจิตสำนึกในความรับผิดชอบบกพร่อง และการย่อหย่อนในการรักษากฎหมาย

………………….

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
Cookie policy for development and experience and the experience of use that has previously been studied in detail in the policy and can be controlled by controlling the installation.setting

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
You can choose your cookie settings by turning them on/off. Cookies in each category can be customized according to your needs, except for essential cookies.

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น