กิจกรรม “Car Free Day 2014 เปิดเมืองปั่น ลดโลกร้อน” หรือ “คาร์ฟรีเดย์” เมื่อ กันยายน 2557 ณ ลานเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้คนหันมาใช้จักรยาน บริการขนส่งมวลชน อันเป็นการลดมลพิษจากการใช้รถบนท้องถนน ลดการใช้น้ำมัน ส่งเสริมให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรง กิจกรรมนี้ได้จัดพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ในงานนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นประธานในงาน ได้นำเสนอแนวคิดที่จะเก็บภาษีรถยนต์ที่วิ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในและการผ่านบางเส้นทาง เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน และลดจำนวนการใช้รถยนต์ แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า จะมีวิธีการจัดเก็บอย่างไร

หลายประเทศที่คนภายในประเทศใช้บริการขนส่งมวลชน เพราะการเป็นเจ้าของรถยนต์ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น สิงคโปร์เป็นประเทศที่รถยนต์ราคาแพงมาก รัฐบาลต้องควบคุมจำนวนรถยนต์ไม่ให้มีมาก จึงใช้นโยบายเก็บภาษีอัตราสูง กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำร้อยละ 40 และผ่อนไม่เกิน 5 เดือน ในญี่ปุ่นการเป็นเจ้าของรถยนต์ต้องคำนึงถึงที่จอดรถ เพราะกฎหมายกำหนดว่า จะต้องนำโฉนดที่จอดรถหรือนำโฉนดที่ดินของบ้านพร้อมรูปถ่ายที่จอดรถมาแสดงเพื่อซื้อรถยนต์ หรือถ้าอยู่อพาร์ทเม้นท์ คอนโดมีเนียม ต้องนำสัญญาเช่าที่จอดรถมาแสดง ถ้าไม่มีก็ไม่มีสิทธิซื้อรถยนต์ส่วนตัว

ต่างจากคนไทยที่ส่วนมากจะคำนึงถึง คือ ต้องผ่อนกี่งวด ดอกเบี้ยเท่าไร ทำให้บริษัทเงินทุนต่างๆ ต่างพากันแข่งขัน ให้ผ่อนได้นานหลายงวด แถมประกันรถชั้นหนึ่ง 1 ปี อุปกรณ์แถมครบครัน รถยนต์จึงสามารถเป็นพาหนะของผู้มีรายได้น้อยได้ ทั้งๆที่คนบางคนอยู่ในเส้นทางที่สามารถใช้บริการขนส่งมวลชนได้สะดวกมากกว่าการที่ต้องเสียเวลาขับรถยนต์ส่วนตัว จำนวนรถยนต์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ทำให้การจราจรติดขัด

แนวความคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่จะลดจำนวนการใช้รถยนต์พื้นที่กรุงเทพชั้นในนับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักเป็นอันดับแรกนั้น คือ ระบบการขนส่งมวลชนที่เป็นรถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าใต้ดิน และรถไฟฟ้าแบบยกระดับลอยฟ้า จะต้องมีความพร้อมและเป็นทางเลือกที่ประชาชนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก

ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการเก็บภาษี หรือค่าธรรมเนียมจากรถยนต์ที่วิ่งในพื้นที่ชั้นใน โดยใช้ระบบอาร์เอฟไอดี (RADIO FREQUENCY INDENTIFICATION หรือ RFID) กับรถยนต์ และการจัดเก็บค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียมเป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Road Price หรือ ERP)

รถยนต์ในประเทศสิงคโปร์ที่แล่นผ่านพื้นที่ชั้นใน จะต้องติดตั้งอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่เรียกว่า ชิป เพื่อจะระบุถึงทะเบียนรถยนต์และเจ้าของรถยนต์ เมื่อแล่นเข้าพื้นที่ชั้นในจะต้องผ่านช่องหรือทางรอดที่มีลักษณะเหมือนด่านเก็บเงินระบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้พนักงานเก็บเงิน ในอัตรา 50 เซ็นต์ – 5 ดอลล่าร์สิงคโปร์ต่อการผ่านทางหนึ่งครั้ง การทำงานจะคล้ายกับวิธีการใช้บัตรผ่านทางด่วน Easy Pass เพียงแต่ระบบ ERP ของประเทศสิงคโปร์จะมีความสลับซับซ้อนกว่า ตรงที่อัตราการเรียกเก็บเงินจะแตกต่างกันไปตามเวลา เช่น ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่คนใช้รถยนต์มาก ค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียมจะแพงกว่าเวลาอื่นที่คนใช้รถยนต์น้อย

นอกจากนี้ ระบบ ERP ของประเทศสิงคโปร์ยังเชื่อมโยงไปกับอาคารทั่วไปอีกด้วย ทำให้ทราบล่วงหน้าว่า อาคารที่จะเดินทางไปนั้นมีที่จอดรถเพียงพอหรือไม่ สามารถวางแผนการเดินทางล่วงหน้าได้ ประเทศสิงคโปร์นอกจากจะมีระบบขนส่งมวลชนที่ดีแล้ว ยังไม่ต้องกังวลเรื่องที่จอดรถอีกด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมน่าจะแสดงความเห็นให้ชัดเจนเลยว่า การแก้ปัญหาจราจรพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร จะใช้วิธีการแบบเดียวกับประเทศสิงคโปร์หรือไม่ถึงแม้อาจจะลงทุนค่อนข้างสูงในราคาเริ่มแรก แต่ก็นับว่าได้ประโยชน์คุ้มกว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงชาวกรุงเทพมหานครคงจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์เป็นการใหญ่ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเสียค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียมผ่านทางแพงขึ้น