เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับใหม่ คือ “ร่างพระราชบัญญัติการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมชนส่งของรัฐ ที่รู้จักกันดีในชื่อของภาษีลาภลอย”

ภาษีลาภลอยจัดเก็บจากการที่อสังหาริมทรัพย์มีราคาเพิ่มขึ้น เพราะสาธารณูปโภคหรือโครงการคมนาคมขนส่งของรัฐ เช่น ทางด่วน รถไฟฟ้า สนามบิน อสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใกล้สาธารณูปโภคหรือโครงการเหล่านี้จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้น เพราะทำเลดีขึ้น การคมนาคมสะดวก มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาก มีโรงเรียน โรงพยาบาล สำนักงาน ตลาด ร้านสะดวกซื้อต่าง ๆ

เมื่อคณะรัฐมนตรีรับหลักการพระราชบัญญัติ จึงทำให้กฎหมายนี้ชัดเจนขึ้นในรายละเอียด จากเดิมที่มีเพียงแนวคิด กล่าวคือ อสังหาริมทรัพย์บริเวณรัศมี 5 กิโลเมตร จากการลงทุนโครงการพื้นฐานของรัฐ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน ทางด่วน ฯลฯ และมีมูลค่าทรัพย์สินเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป เจ้าของทรัพย์สินนั้นมีหน้าที่เสียภายลาภลอย

อย่างไรก็ตาม มีผู้เห็นว่าการกำหนดรัศมีโดยรอบ 5 กิโลเมตรดังกล่าว เป็นระยะทางมากเกินไป เพราะเท่ากับครอบคลุมพื้นที่สองฝั่งถนนเป็นระยะทางถึง 10 กิโลเมตร ถนนบางแห่งแบบมอเตอร์เวย์ก็ไม่มีทางออก จุดกลับรถไกลมาก กรณีมีมอเตอร์เวย์ตัดผ่านที่ดินจึงแทบไม่มี ผลทำให้ทำเลดีขึ้นมูลค่าที่ดินสูงขึ้นมากนัก

นอกจากนี้รัศมี 5 กิโลเมตรนั้นครอบคลุมพื้นที่ดินกว้างมากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อเจ้าของที่ดินในบริเวณดังกล่าวมากเกินไป ตัวอย่างเช่น อาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า ตามปกติจะตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าเพียงแค่ไม่เกิน 1 กิโลเมตรเท่านั้น จึงควรปรับลดรัศมีดังกล่าวลง

นิยามของทรัพย์สินที่ได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐนี้ มีทั้งที่ดินเปล่าไปจนถึงห้องชุด ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ถ้าใช้รัศมี 5 กิโลเมตร จากโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พื้นที่ในกรุงเทพมหานครทั้งหมดอาจอยู่ในขอบข่ายของภาษีลาภลอยได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายมีการกำหนดยกเว้นการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากที่อยู่อาศัย และพื้นที่เกษตรกรรม เว้นแต่จะใช้ประโยชน์ทางด้านพาณิชยกรรมและมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท

สำหรับผู้เสียภาษีลาภลอยมีทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา นิติบุคคลจะเสียภาษีในฐานะที่เป็นเจ้าของโครงการต่าง ๆ ถ้าก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ยังขายไม่ได้ ยังไม่โอนกรรมสิทธิ์ให้ลูกค้า เจ้าของโครงการมีหน้าที่เสียภาษีลาภลอย แต่หากมีการโอนกรรมสิทธิ์แล้ว เจ้าของอสังหาริมทรัพย์มีหน้าที่เสียภาษีลาภลอย

เมื่อมีภาษีลาภลอยจะกระทบราคาซื้อขายของอสังหาริมทรัพย์อย่างแน่นอน เพราะเมื่อที่ดินที่ทำโครงการมีราคาสูงขึ้น และผู้พัฒนาโครงการต้องเสียภาษีจากลาภลอย ผู้พัฒนาโครงการจะผลักภาระภาษีดังกล่าวมายังผู้บริโภค โดยรวมภาษีลาภลอยไว้ในราคาสินค้า

การที่ที่ดินถูกเวนคืนเพื่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ดินแปลงหนึ่ง อาจถูกเวนคืนแต่เพียงบางส่วนเพื่อสร้างโครงการ ที่ดินส่วนที่เหลืออาจมีเนื้อที่น้อยจนแทบจะใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่เจ้าของที่ดินดังกล่าวกลับต้องเสียภาษีลาภลอยจำนวนมาก เพราะที่ดินที่เหลืออยู่ติดกับโครงการสาธารณูปโภค

           ทั้ง ๆ ที่กรณีนี้มูลค่าที่ดินที่เหลือมีมูลค่าที่เป็นจริงน้อยลงไปมาก  และจะไม่ได้รับเงินค่าทดแทนหรือได้รับการเยียวยาใด ๆ จากรัฐ 
           ในส่วนนี้กฎหมายไม่ได้บัญญัติแนวทางแก้ไขไว้

หากอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ มีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท จะไม่อยู่ในขายต้องเสียภาษีลาภลอย

เพดานภาษีที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย คือ 5% โดยฐานภาษีด้านการเรียกเก็บจากส่วนต่างของราคาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการมีโครงการสาธารณูปโภคนั้น ๆ กล่าวคือ เดิมอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าเท่าใดก่อนมีการสร้างโครงการสาธารณูปโภค และเมื่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากเท่าใด มูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกนำมาคำนวณภาษีในอัตราสูงสุดไม่เกิน 5%

เป็นที่คาดกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะใช้บังคับในปี ค.ศ. 2562 ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนการพิจารณาต่าง ๆ อีกมาก และมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่าง ๆ ให้ชัดจนเหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามการปรับเปลี่ยนดังกล่าวต่อไป