ทุกชนชาติในโลกต่างมีวัฒนธรรมที่เป็นของตนเอง มรดกทางวัฒนธรมจึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าในฐานะที่เป็นเครื่องแสดงออกถึงรากฐานและความเป็นมาของชาติบ้านเมือง ซึ่งคนในชาติควรที่จะช่วยกันดูแลรักษา เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์และให้ผู้คนในโลกได้ชื่นชม มรดกทางวัฒนธรรมทั่วไปจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะต่าง ๆ เช่น บ่งบอกถึงความเป็นชุมชนหรือท้องถิ่น ให้คุณค่าทางประวัติศาสตร์ วิชาการ ศิลปะ มีการแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของชีวิตของกลุ่มชน และสังคมที่ได้มีการสืบทอดกันมา

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หรือ United Nations Education, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) ได้แบ่งการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมออกเป็น ๒ ประเภท คือ

(๑)มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้ (Tangible Cultural Heritage) เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นได้ทางกายภาพ โดยครอบคลุมทั้งมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุเคลื่อนที่ได้ และวัตถุเคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น โบราณวัตถุ โบราณสถาน

(๒)มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) หมายถึง ความรู้ ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือแนวปฏิบัติทุกรูปแบบ ทั้งที่เป็นสากลและของท้องถิ่น ที่ถูกสร้างขึ้นและถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใด ผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงได้โดยกระบวนการสั่งสมความรู้และการประยุกต์ใช้

ประเทศไทยมีความหลากหลายทางมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความรู้ด้านการนวดแผนไทยและการแพทย์แผนไทย ความรู้ในการนำพืชสมุนไพรมาทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาวนำมาปรุงเป็น “ต้มยำ” ซึ่งเป็นอาหารไทยที่เป็นที่ชื่นชอบของคนไทยและคนต่างชาติ คุณสมบัติของสมุนไพรในต้มยำ ช่วยในการลดไข้ แก้หวัด ช่วยในการขับถ่าย ศิลปะการต่อสู้มวยไทยที่มีการผสมผสานในการใช้มือ เท้า เข่า ศอก และศีรษะได้อย่างกลมกลืนที่เรียกว่า “นวอาวุธ” นอกจากนี้ มวยไทยถือว่ามีการหลอมศิลปวัฒนธรรมหลายด้านเข้าด้วยกันผสมผสานกันอย่างลงตัว ก่อนชกมวยจะมีการไหว้ครู ซึ่งก็จะมีการร่ายรำ มีเสียงเครื่องดนตรีไทยประกอบการไหว้

นับจากปี พ.ศ. ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ จำแนกเป็น ๗ สาขา คือ (๑) ภาษาถิ่น และภาษาชาติพันธุ์ (๒) วรรณกรรมพื้นบ้าน (๓) สาขาศิลปะการแสดง (๔) แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมและงานเทศกาล (๕) งานช่างฝีมือดั้งเดิม (๖) ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล (๗) กีฬาภูมิปัญญาไทย การเล่น การกีฬา และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว รวมไม่น้อยกว่า ๘๐ รายการ ได้แก่ ว่าวไทย ฤษีดัดตน มวยไทย ต้มยำกุ้ง ผัดไทย ก่องข้าวดอก โดยล่าสุดในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ มีการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาถึง ๗๐ รายการ ได้แก่ ภาษาไทยถิ่น เพลงหน้าพาทย์ มะโย่ง รองเง็ง ผ้าทอผู้ไทย ขันลงหินบ้านบุ บาตรบ้านบาตร ตำนานอุรังค-ธาตุ หมากรุกไทย หมากเกิน วิ่งวัว วิ่งควาย การผูกเสี่ยง แกงเขียวหวาน ส้มตำ น้ำพริก ปลาร้า ลูกประคบ และอื่น ๆ อีกหลายรายการที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทยตั้งแต่อดีตกาล เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ยกย่องภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่มีอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจและยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นการเตรียมการเพื่อนรองรับการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไมได้ของยูเนสโกในอนาคต

รายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมของไทยที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งและคงมีจำนวนไม่มากในปัจจุบันที่จะรู้จัก ยิ่งในเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ คงจะรู้จักแต่ท่าเต้นแบบตะวันตก หรือท่าม้าย่องของนักร้องเกาหลีชื่อดัง หรือการทักทายแบบไฮไฟว์แทนที่จะเป็นการไหว้แบบไทย ๆ หรือแม้กระทั่งการรับโทรศัพท์ คนไทยจำนวนมากจะนำวัฒนธรรมตะวันตกมารับสาย “ฮัลโหล” แทนที่จะใช้ “สวัสดีครับ/สวัสดีค่ะ”

ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าจะเป็นลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าให้ความคุ้มครองแก่ผู้สร้างสรรค์ ผู้ประดิษฐ์ ความคุ้มครองดังกล่าวทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าสามารถที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งจุดมุ่งหมายจะเป็นการคุ้มครองเฉพาะกลุ่ม แต่สำหรับเรื่องมรดกทางวัฒนธรรมถือว่าเป็นเรื่องของทุกคนในชาติ ซึ่งควรภาคภูมิใจที่ได้เป็นเจ้าของมรกดอันล้ำค่า มีคุณค่าทางจิตใจ เป็นการแสดงออกให้เห็นวัฒนธรรมอันเก่าแก่ ปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อธรรมชาติและการคิดสร้างสรรค์

เมื่อเป็นมรดก ก็เท่ากับว่าทุกคนในชาติมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของ คนไทยทุกคนควรตระหนักถึงคุณค่า และควรที่จะปกป้องรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทยให้ดำรงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริม เชิดชู การถ่ายทอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม เช่น การให้การสนับสนุนซื้อสินค้างานหัตกรรมหรืองานฝีมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าย่านลิเภา ไม่ควรมีทัศนคติว่ากระเป๋าต่างประเทศแสดงถึงความทันสมัย ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ อยู่แล้วก็ควรถ่ายทอดวิชาความรู้จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลาน รุ่นลูกรุ่นหลานก็ควรตั้งใจรับความรู้นั้น จัดให้มีการแสดงหรือการละเล่นแบบไทย ๆ ในเทศกาลต่าง ๆ หรือกรณีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาควรปลูกฝังให้เยาวชนไทยรู้จักมรดกวัฒนธรรมของไทยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่สิ่งที่ควรจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็นเพียงประวัติศาสตร์หรือหากพูดง่าย ๆ เปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ก็สูญพันธุ์ (ไปแล้ว)