ปราสาทพระวิหารกลายมาเป็นข้อพิพาทระหว่างไทย และกัมพูชาอีกครั้ง เมื่อกัมพูชายื่นเรื่องขอให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ในปีพ.ศ. 2548 ต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ยูเนสโก ( UNESCO- United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization)” โดยที่ไทยคัดค้านการยื่นฝ่ายเดียวของกัมพูชา เพราะยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับเขตแดน ที่ทำให้ต้องขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลโลก ทั้งยูเนสโก และความเป็นมรดกโลก มีความสำคัญเช่นไร

องค์การยูเนสโกมุ่งเน้นการส่งเสริมสันติภาพ ด้วยการส่งเสริมความร่วมมือของนานาชาติ ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม ภายใต้ปรัชญาพื้นฐานที่ว่า “การรักษาและปกป้องสมบัติทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลกนั้น เป็นความจำเป็นและถือเป็นภาระร่วมกันของมนุษยชาติ” มีการจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก” (The World Heritage Convention) เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เป็นความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการต่างๆระหว่างประเทศในการคุ้มครอง และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติให้ดำรงคุณค่าความโดดเด่นเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

มรดกโลก (World Heritage) หมายถึง แหล่งวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีคุณค่าความโดดเด่นในระดับสากล เป็นมรดกอันทรงคุณค่าที่มนุษย์ได้รับจากอดีต เมื่อได้รับการยอมรับให้เป็นแหล่ง “มรดกโลก” แล้ว ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในเขตดินแดนของประเทศใด ก็ถือได้ว่าเป็นมรดกของทุกคนทั้งปวงในโลก มรดกโลก เป็นสถานที่ อันได้แก่ ป่าไม้ ภูเขา ทะเลสาบ ทะเลทราย อนุสาวรีย์ สิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงเมือง

การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติเพื่อให้เป็นมรดกโลก สามารถทำได้โดยรัฐบาลแห่งประเทศสมาชิกผู้มีอำนาจอธิปไตยเหนือแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ โดยการเสนอชื่อสถานที่ในประเทศของตน เพื่อให้ได้รับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คณะกรรมการมรดกจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง ในการประชุมสมัยสามัญประจำปี เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่สมควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก คณะกรรมการมรดกโลกประกอบด้วยกรรมการจาก 21 ประเทศได้รับเลือกจากประเทศสมาชิก ดำรงตำแหน่งคราวละ 6 ปี ซึ่งในปีพ.ศ. 2556 ดร.โสมสุดา ลียะวณิช รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการมรดกโลก

หากย้อนไปตั้งแต่ยูเนสโกก่อตั้งเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 แรกเริ่มเมื่อองค์การจัดตั้ง จะมุ่งพัฒนาเน้นเรื่องการศึกษา ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร จนกระทั่งเวลาผ่านช่วงระยะหนึ่ง ผลงานของยูเนสโกกลับไม่โดดเด่นไม่เป็นที่น่าสนใจ จนทำให้มีการประชุมปรึกษาภายในองค์การว่าจะสร้างชื่อเสียงให้คนทั่วโลกรู้จักได้เช่นไร จึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์การสร้างชื่อใหม่ให้ดูเด่นขึ้น หรือที่เรียกว่า Rebranding จึงนำแหล่งวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีคุณค่าความโดดเด่นในระดับสากลของแต่ละประเทศมาทำเป็นโครงการเพื่อเป็นตัวเชื่อมโยง หรือที่เรียกกันในทุกวันนี้ว่า “มรดกโลก” เพื่อให้คนทั่วโลกมีความรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของร่วมกัน และมีแนวคิดว่าสันติภาพที่เกิดจากการตกลงทางการเมือง ทางเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลเพียงอย่างเดียวนั้น ย่อมไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่แท้จริงและยืนนานจากประเทศต่าง ๆ สันติภาพจะต้องวางรากฐานอยู่บนความร่วมมือทางภูมิปัญญา และจิตสำนึกของมนุษยชาติ

การปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์การให้ดูเด่นขึ้น หรือที่เรียกว่า Rebranding ของยูเนสโกนี้ ถือได้ว่าเป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ หากนำมาปรับใช้กับหนวยราชการไทยบางหน่วยงาน หรือภาคธุรกิจเอกชนอาจเป็นการสร้างผลดีไม่มากก็น้อย

หลังจากที่นำมรดกโลกมาเป็นตัวสร้างชื่อให้กับองค์การ ปี พ.ศ. 2556 ยูเนสโกมีสมาชิก 195 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยซึ่งได้เป็นสมาชิก เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2492

ในปี พ.ศ. 2556 ยูเนสโกขึ้นทะเบียนสถานที่สำคัญ 981 แห่ง จาก 160 ประเทศทั่วโลก ให้เป็นมรดกโลก ในจำนวนนี้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม 759 แห่ง มรดกโลกทางธรรมชาติ 193 แห่ง และอีก 29 แห่งเป็นแบบผสมทั้งสองประเภท เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แหล่งมรดกโลกนั้นก็จะได้รับเงินสนับสนุนจากยูเนสโก เพื่อการรักษาบูรณะให้คงอยู่ และให้ผู้คนจากสารทิศทั่วโลกได้ชื่นชม และมีป้ายว่า “มรดกโลก (World Heritage)” อยู่หน้าสถานที่นั้น สร้างความภาคภูมิใจให้กับทุกคนที่มาเยือน และคนในชาติที่สถานที่มรดกโลกตั้งอยู่ นอกจากนี้ประเทศที่มีมรดกโลกตั้งอยู่ก็มีหน้าที่ที่สำคัญที่ต้องดูแลรักษาให้คงอยู่เป็นมรดกโลกต่อไป และยังมีรายได้มหาศาลจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

แหล่งมรดกโลกที่มีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักทั่วโลก เช่น กำแพงเมืองจีน นครเปตราในประเทศจอร์แดน ทัชมาฮาลในประเทศอินเดีย

ในประเทศไทยมีแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง คือ (1) อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร (2) อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (3) .แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และ แหล่งมรดกทางธรรมชาติ 2 แห่ง คือ (1) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง (2) อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก เปรียบเสมือนสิ่งที่เป็นตัวประสานให้ชาวโลกไม่ว่าจะอยู่แห่งใดพึงรัก และปกปักษ์รักษามรดกโลก ตระหนักถึงสิ่งที่ธรรมชาติให้มา และสิ่งที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ตั้งแต่อดีตกาล เพื่อรักษาให้ลูกหลานได้ชื่นชม และคงความเป็นมรดกโลกต่อไป และควรหยุดรังแกธรรมชาติ เพื่อความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

          แม้ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างว่า  ชนะคดีตามคำพิพากษาของศาลโลก แต่เมื่อเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก ก็ถือว่าเป็นมรดกของคนทั้งโลก ทั้งไทยและกัมพูชาก็มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้คงความเป็นมรดกโลกตลอดกาล