ย้อนรอยซานติก้า
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 30 ธันวาคม 2559
ดร. รุจิระ บุนนาค
30 ธันวาคม 2559

เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่คร่าชีวิตนักท่องราตรีกว่าครึ่งร้อย และมีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 200 คน กลับเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชดใช้ค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนเพิ่มให้แก่ผู้เสียหาย และญาติผู้เสียชีวิตรวม 12 ราย จากเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมเป็นเงินที่ต้องชดใช้ทั้งสิ้นจำนวน 5,794,250.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีถึงที่สุด

คดีนี้ผู้เสียหายและทายาทของผู้เสียชีวิตในฐานะผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อศาลปกครองกลางกรณีละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมอาคารที่ใช้เป็นซานติก้าผับ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 เพื่อให้โครงสร้างของอาคาร ระบบ และอุปกรณ์อยู่ในสภาพมั่นคงและปลอดภัย เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้ผู้เสียหายและทายาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในสาระสำคัญ คือ ภายในอาคารไม่จัดให้มีป้ายบอกทางออกและทางหนีไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ มีการก่อสร้างอาคารผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตมีการต่อเติมดัดแปลงใช้เป็นสถานบริการ อาคารตั้งอยู่ติดถนนสุขุมวิท ไม่ไกลจากสำนักงานเขตวัฒนา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย่อมต้องทราบหรือควรจะทราบว่า อาคารก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จึงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ จึงถือได้ว่าละเลยต่อหน้าที่ และต้องรับผิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งศาลได้สั่งให้ กทม. ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยได้กำหนดว่าแต่ละรายได้รับค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าใด

เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว ทั้ง กทม. และผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า ความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยจากการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้ปรับเพิ่มค่าสินไหมทดแทน

ความจริงเมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว กทม. ควรจะรีบจ่ายเงินตามคำพิพากษา ไม่ควรอุทธรณ์คดีนี้ เพราะการอุทธรณ์ทำให้ระยะเวลาการดำเนินคดียืดเยื้อออกไป แทนที่ผู้ฟ้องคดีจะได้นำค่าสินไหมไปเยียวยาความเสียหายได้ทันท่วงที กทม. ควรยอมรับว่าความเสียหายเกิดจากการละเลย เพิกเฉยของเจ้าหน้าที่โดยตรง

นอกจากคดีนี้แล้ว ผู้เสียหายและญาติของผู้เสียชีวิตยังได้ฟ้องคดีแพ่งและอาญากับนายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ “เสี่ยขาว” กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์บราเธอร์ส (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ พร้อมกับจำเลยอื่น ๆ ความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น และประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พร้อมกับข้อหาอื่น ๆ

คดีนี้ยื่นฟ้องปีพ.ศ. 2552 ต่อสู้ทั้ง 3 ศาล ใช้เวลาถึง 7 ปี ศาลฎีกามีคำพิพากษาในสาระสำคัญ คือจำคุก 3 ปี นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ และผู้จัดการบริษัทที่จุดพลุหน้าเวทีจนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ โดยไม่รอลงอาญา และยังให้บริษัทที่จุดพลุกับผู้จัดการบริษัท ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 5,120,000 บาท

ตามปกติแล้วคนส่วนมากจะใช้การประเมินด้วยสายตา เมื่อเห็นว่ารูปแบบภายนอกอาคารดูมั่นคง หรูหรา อาคารดังกล่าวคงต้องสร้างถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้นคงไม่สามารถตั้งอยู่อย่างนั้นได้ แต่เมื่อเกิดกรณีของซานติก้าผับ ประกอบกับข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาคารต่อเติมผิดแบบถล่ม ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการประเมินจากภายนอกไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้

ซานติก้าผับ มีทั้งการก่อสร้าง ตกแต่ง และอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น นำวัสดุไฟเบอร์กลาสและพอลิสไตรีนซึ่งถือว่าเป็นเชื้อเพลิงมาตกแต่งชั้นใต้ดินมีทางขึ้นลงด้วยบันไดเพียงทางเดียว ไม่ติดตั้งระบบตรวจจับความร้อนและควันไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ไม่มีระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่บริการ ใช้กระจกประตูหน้าต่างเป็นกระจกธรรมดาซึ่งเมื่อแตกจะเป็นชิ้นส่วนมีคม ทั้งผู้บริหารซานติก้าผับได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ เพื่อพักอาศัย แต่กลับใช้อาคารเป็นสถานบริการถือว่าเป็นการใช้อาคารผิดประเภท ความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของความไม่ปลอดภัยในอาคารประเภทสถานบริการ

หลังจากเหตุการณ์ซานติก้าผับ ได้มีการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯกําหนดประเภท และระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการพ.ศ. 2555 เพื่อกำหนดให้อาคารที่ใช้เป็นสถานบริการต้องมีความปลอดภัยจากอัคคีภัย

กฎกระทรวงฉบับนี้ ได้วางระบบการจัดการอัคคีภัยของอาคาร เช่น ผนังต้องทําด้วยวัสดุทนไฟ มีการกำหนดจำนวนทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟที่สอดคล้องกับจำนวนคนที่มาใช้บริการสถานบริการแห่งนั้น เช่น จำนวนคนไม่เกิน 50 คน จํานวนทางออก และประตูทางออกต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งแห่ง หากจำนวน 51-200 คน ต้องไม่น้อยกว่าสองแห่ง

สำหรับจํานวนทางหนีไฟของสถานบริการ หากจำนวนคนไม่เกิน 500 คน จำนวนทางหนีไฟต้องไม่น้อยกว่าสองแห่ง หากจำนวนคน 500-1,000 คน ต้องไม่น้อยกว่าสามแห่ง

ทั้งสถานบริการจะต้องติดป้ายแสดงความจุคนในสถานบริการ โดยให้ยึดแบบถาวรไว้ในตำแหน่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น บริเวณห้องโถง หรือใกล้ทางเข้าหลัก ป้ายดังกล่าวต้องทำด้วยวัสดุถาวร ทั้งนี้ ความจุคนขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่และอาคารที่ออกแบบ ที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ ซึ่งในทางเป็นจริงแล้ว แทบไม่มีสถานบริการแห่งไหนที่มีป้ายแสดงความจุคน สถานบริการจะต้องจัดให้มีผู้ดูแลระบบความปลอดภัย และการป้องกันอันตรายของสถานบริการอย่างน้อยหนึ่งคน ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพแผนกช่างไฟฟ้า

แม้จะมีการแก้กฎหมาย แต่หากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัว เพิกเฉยเมื่อผู้ประกอบการทำผิด การจะมีกฎหมายเป็นร้อย ๆ ฉบับคงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ทั้งควรต้องลงโทษแก่เจ้าหน้าที่ขั้นเด็ดขาดอันเป็นการเชือดไก่ให้ ลิงดู

นอกจากนี้ ประชาชนด้วยกันต้องช่วยกันสอดส่อง เป็นหูเป็นตา ถึงความไม่ชอบมาพากลของสิ่งก่อสร้าง หรือการต่อเติมอาคารต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยแก่ส่วนรวม

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
Cookie policy for development and experience and the experience of use that has previously been studied in detail in the policy and can be controlled by controlling the installation.setting

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
You can choose your cookie settings by turning them on/off. Cookies in each category can be customized according to your needs, except for essential cookies.

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น