แชทจนเลิกจ้าง
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 27 มีนาคม 2558
ดร. รุจิระ บุนนาค
27 มีนาคม 2558

ในยุคปัจจุบันการติดต่อสื่อสารมีความสะดวกรวดเร็ว สังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Gtalk, Line, Facebook สามารถย่อโลกให้เล็กลง การรู้จักใช้สื่อออนไลน์อย่างถูกวิธีก็นับว่ามีประโยชน์ สำหรับแต่ละคนมากน้อยต่างกัน แต่หากใช้อย่างไม่มีสติก็อาจเกิดผลในทางลบ บางคนถึงขั้นเสพติดเล่นได้ทั้งวันไม่สนใจโลกภายนอก และให้เวลากับสังคมออนไลน์มากกว่าครอบครัว การศึกษา หรือหน้าที่การงาน

สำหรับบรรดาลูกจ้างเอกชนที่ชอบใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงส่วนตัวในเวลางาน โดยไม่สนใจหรือรับผิดชอบหน้าที่ของตน ควรต้องตระหนักมากขึ้นและควรเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2564/2557 โจทก์เป็นพนักงาน ฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยว่าไล่ออกเนื่องจากการเล่นอินเทอร์เน็ตและแชต เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาพิพากษาว่า ในระหว่างเวลาทำงาน โจทก์เล่นเน็ตพูดคุย และส่งข้อความในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน วันละเป็นชั่วโมงก็มี ถือว่าโจทก์ใช้เวลาทำงานของจำเลยไปในเรื่องไม่เกี่ยวกับงาน กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำอื่นอันไม่สมควรแก่การปฎิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการที่โจทก์ใช้เวลางานของจำเลยทำเรื่องส่วนตัวย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ลูกจ้างตามฎีกานี้ได้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของนายจ้างเล่นอินเทอร์เน็ตพูดคุยและส่งข้อความในเรื่องส่วนตัวเป็นประจำเกือบทุกวัน แต่ละวันเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า (เงินเดือนหนึ่งเดือน) และค่าชดเชย
โดยปกติเมื่อนายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดแต่ประการใด นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง มากน้อยแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน (แต่ลูกจ้างต้องทำงานอย่างต่ำสามเดือน) และต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

นายจ้างมีสิทธิที่ไม่จ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีลูกจ้าง (1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง (2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย (3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง (4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด (5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร (6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกในกรณีที่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

การแชทในเวลาทำงานในปัจจุบันไม่ใช่แต่เพียงพนักงานบริษัทเอกชน สังคมออนไลน์ยังแพร่ไปไม่เว้นแต่ข้าราชการ ข้าราชการบางคนใช้เวลาในหน้าที่ เพื่อความบันเทิงส่วนตัวผ่านทางสังคมออนไลน์เช่นกัน จนอธิบดีกรมการปกครองต้องออกหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท.0304/ว 1515 ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2558 ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อกำหนดแนวทางในการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสารของทางราชการกรมการปกครอง โดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ (1) ให้บุคลากรกรมการปกครองใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการเพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น (2) ห้ามมิให้ใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการไปใช้ในทางส่วนตัวที่ใช้โปรแกรมเกี่ยวกับสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Line (3) ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นควบคุมดูแลการใช้คอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารของทางราชการของบุคลากรกรมการปกครอง ให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีบุคลากรกระทำความผิด จะถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาด้วย

การออกหนังสือลักษณะนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้กรมการปกครองได้ออกหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เรื่อง “มาตรการใช้งานระบบอินเทอร์เน็ต” โดยระงับการเข้าถึง เว็บไซต์ที่ให้บริการดาวน์โหลดข้อมูลภาพและเสียงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน เช่น www.facebook.com ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2555 เป็นต้นไป ในช่วงระหว่างเวลา 08.30-12.00 น. และ 13.00-16.30 น.

การใช้อินเทอร์เน็ตแม้จะใช้ผ่านทางเครื่องมือหรืออุปกรณ์สื่อสารส่วนตัวของลูกจ้าง แต่หากเป็นการเบียดบังเวลาทำงานจนทำให้หน้าที่การงานเสียและนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ถือว่ามีความผิดที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้

อย่างไรก็ตาม สื่อออนไลน์ได้มีส่วนช่วยให้การติดต่อสื่อสารในยุคปัจจุบันเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วและง่ายขึ้น หากบางครั้งลูกจ้างอาจใช้เวลางานบนสังคมออนไลน์บ้าง และไม่ถึงขนาดทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างก็ไม่ควรเอามาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างควรพิจารณาเป็นกรณีๆไป หากนายจ้างพิจารณาเห็นว่าลูกจ้างไม่มีความตั้งใจและไม่เอาใจใส่ต่อหน้าที่การงาน และอาจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย นายจ้างควรหาทางออกโดยทำเป็นหนังสือแจ้งให้ลูกจ้างทราบ เพราะอย่างน้อยที่สุดก็สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
Cookie policy for development and experience and the experience of use that has previously been studied in detail in the policy and can be controlled by controlling the installation.setting

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
You can choose your cookie settings by turning them on/off. Cookies in each category can be customized according to your needs, except for essential cookies.

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น