มาตรา 44 กับสิทธิบัตรยา
ลงพิมพ์ในเดลินิวส์ : 24 เมษายน 2560
ดร. รุจิระ บุนนาค
24 เมษายน 2560

สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด

การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ (1) ต้องเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ คือ เป็นการประดิษฐ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ยังไม่เคยมีใช้หรือแพร่หลายมาก่อน หรือไม่เคยเปิดเผยสาระสำคัญในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์มาก่อน (2) ต้องเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น คือ ไม่เป็นที่เข้าใจได้โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับงานประเภทนั้น (3) ต้องเป็นการประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทางอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรือหัตถกรรม

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เช่น กรรมวิธีในการผลิตยา กรรมวิธีในการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ไม่ให้เน่าเสียเร็วเกินไป กลไกของเครื่องยนต์ คุ้มครอง 20 ปีนับแต่วันยื่นคำขอ

สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หมายถึง ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับรูปร่าง ลักษณะภายนอกของผลิตภัณฑ์ ที่แตกต่างไปจากเดิม

การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ขอรับสิทธิบัตร (1) ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ (2) ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม คุ้มครอง 10 ปีนับแต่วันยื่นคำขอ

อนุสิทธิบัตรเป็นการประดิษฐ์ใหม่ที่มีเทคนิคที่ไม่สูงมากนัก มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย คุ้มครองรวม 10 ปีนับตั้งแต่วันยื่นคำขอ

ก่อนที่สิ่งประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์จะได้รับสิทธิบัตร จะมีขั้นตอนที่เรียกว่า “การตรวจสอบ” โดยเจ้าหน้าผู้ชำนาญการสาขาที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ และการออกแบบผลิตภัณฑ์จะทำการตรวจสอบว่า การประดิษฐ์และการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามคำขอรับสิทธิบัตรเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือไม่ เช่น มีความใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรมหรือหัตถกรรม ฯลฯ ขั้นตอนนี้เจ้าหน้าที่อาจยกคำขอหรือสั่งให้ผู้ยื่นคำขอทำการแก้ไข บางครั้งเจ้าหน้าที่อาจสั่งให้แก้ไขคำขอ หากผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร และหากผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสิทธิบัตร ผู้ยื่นคำขอสามารถใช้สิทธิทางศาลได้

ทั้งยังมีขั้นตอนการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตร และหากบุคคลใดเห็นว่ามีสิทธิดีกว่า หรือเห็นว่าคำขอสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีสิทธิยื่นคำคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรนั้น หากมีการคัดค้าน ย่อมทำให้การออกสิทธิบัตรต้องใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้น

ในแต่ละวันมีการยื่นคำขอสิทธิบัตรทำให้ภารกิจของเจ้าหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการพิจารณาต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการตรวจสอบที่ละเอียดรอบคอบ

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยว่า แต่ละปีมีการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรประมาณ 9,000 คำขอ จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2560 มีคำขอสิทธิบัตรอยู่ระหว่างพิจารณาประมาณ 36,000 คำขอ โดยเป็นสิทธิบัตรยาประมาณ 3,000 คำขอ ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบมีไม่ถึง 30 คน

การออกสิทธิบัตรแต่ละตัวต้องผ่านขั้นตอนของกฎหมาย ที่ใช้ระยะเวลาพอสมควร กว่าผู้ยื่นคำขอจะได้รับสิทธิบัตร กลับเหลือระยะเวลาการคุ้มครองเพียงสั้นๆ ทำให้เจ้าของสิทธิบัตรมองว่าตนขาดโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรที่ตนคิดค้นได้อย่างเต็มที่

ผู้ยื่นคำขอจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ยื่นคำขอต่างชาติต้องการให้ไทยเร่งแก้ไขปัญหาการออกสิทธิบัตรล่าช้า

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจําเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ …. ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอํานาจสั่งการ….หรือกระทําการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว เป็นคําสั่งหรือการกระทํา หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด….”

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีแนวคิดแก้ไขปัญหานี้ อาศัยความตามมาตรา 44 ได้ออกข้อกำหนดให้คนผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรมาแล้ว 5 ปี สามารถมาขอรับสิทธิบัตรได้ทันที แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขว่าสิทธิบัตรนั้น ต้องมีการจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว

การแก้ไขปัญหานี้ ดูเหมือนจะเป็นดาบสองคม หลายฝ่ายต่างกังวลเกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ที่อาจทำให้บริษัทผู้ผลิตยา โดยเฉพาะผู้ผลิตยาต่างประเทศจะกำหนดราคายาไว้สูงมาก ยาบางตัวต้นทุนการผลิตไม่ถึงหนึ่งร้อยบาทต่อเม็ด แต่มีการจำหน่ายถึงเม็ดละหลายพันบาท

ยา เป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หากยาตัวใดได้รับสิทธิบัตร บริษัทเจ้าของสิทธิบัตรยา จะได้รับสิทธิผูกขาดตลาด ผลิต วิจัย พัฒนา และจำหน่ายยานั้น ได้แต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลา 20 ปี และบริษัทยาจะเป็นผู้กำหนดราคายาบางบริษัทอาจกำหนดราคาสูงมาก โดยไม่คำนึงว่า ยาเป็นสินค้าคุณธรรม เป็นปัจจัย 4 ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้าถึงยานั้นได้ต้องทนทุกข์ทรมานกับโรคที่เป็นอยู่

การผลักดันให้มีการอนุมัติสิทธิบัตรอย่างรวดเร็วจะเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทข้ามชาติ สัดส่วนของผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรในไทยเป็นต่างชาติถึงร้อยละ 87 ผู้ที่ได้รับสิทธิบัตรจึงเป็นบริษัทต่างชาติเสียส่วนใหญ่ หนึ่งในนั้นจะมีกลุ่มบริษัทผู้ผลิตยา อาจทำให้ราคายาในประเทศไทยไม่มีกลไกควบคุม และอาจเกิดการผูกขาดตลาดยา ทำให้ราคายาแพงขึ้น

แม้รัฐบาลจะยืนยันว่า ในการเร่งออกสิทธิบัตรให้เร็วขึ้น จะหาทางป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคายา โดยกระทรวงสาธารณสุขมีกลไกต่อรองราคาในระดับเหมาะสม แต่เท่าที่ผ่านมายาในโรงพยาบาลเอกชนยังคงมีราคาแพงลิบลิ่ว ยาชนิดเดียวกันกลับมีราคาหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับราคาในท้องตลาด

ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเกิดความกังวลว่า รัฐจะรับมือกับเรื่องนี้ได้เพียงใด ใครกันแน่ที่จะได้รับประโยชน์จากการเร่งออกสิทธิบัตร

คนไทยจำนวนมากขาดโอกาสเข้าถึงยา เพราะฐานะยากจน ขณะที่ภาครัฐต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาอย่างอื่นด้วย เมื่อราคายาแพงมาก งบประมาณด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

การแก้ปัญหาการเร่งออกสิทธิบัตร ทำให้มีทั้งฝ่ายได้ประโยชน์ และฝ่ายที่ได้รับผลกระทบ

ฝ่ายที่เกรงว่าจะได้รับผลกระทบโดยไม่ต้องการให้รัฐใช้มาตรา 44 ในกรณีที่เป็นสิทธิบัตรยา มีการเสนอให้รัฐ ตั้งคณะกรรมการร่วม โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และผู้ชำนาญการ/นักวิชาการร่วมพิจารณาตรวจสอบ เพื่อการตรวจสอบจะได้รวดเร็วขึ้น พร้อมกับเพิ่มงบประมาณจัดจ้างเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจสอบให้มากกว่าปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ แม้จะเกษียณแล้ว แต่มากไปด้วยประสบการณ์และความรู้ความชำนาญการ ควรจัดสรรจัดจ้างเจ้าหน้าที่เหล่านี้ด้วย

แม้การออกสิทธิบัตรล่าช้า อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักประดิษฐ์และ นักลงทุน แต่ต้องพิจารณาด้วยว่ายาต่างจากการประดิษฐ์และสินค้าทั่วไป เพราะต้องคำนึงถึงผู้ใช้ยาและผู้ป่วย ที่ต้องการเข้าถึงยาอย่างมีประสิทธิภาพ การตรวจสอบจึงต้องรอบคอบ

คงจะเป็นการดีแก่ประชาชนทั่วไป หากรัฐบาลได้เตรียมแผนไว้แล้ว สำหรับยาราคาแพงและการเข้าถึงยารักษาโรคที่มีความจำเป็นในการรักษาพยาบาล

Marut Bunnag Copyright @2020

 


Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น