เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา มีประกาศกรมศุลกากร 2 ฉบับ ซึ่งมีผลบังคับใช้ เกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรสำหรับผู้เดินทางเข้าออกประเทศไทย คือ ประกาศที่ 59/2561 เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติการศุลกากรในการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระระหว่างสนามบินภายในประเทศ โดยวิธีการ “Check Through” และประกาศกรมศุลกากรที่ 60 / 2561 เรื่อง “การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัว เข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางท่าอากาศยาน ” ทั้งสองประกาศออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากรฉบับใหม่ พ.ศ. 2560

ประกาศที่ 59/2561 สาระสำคัญคือ สำหรับเที่ยวบินขาเข้าจากต่างประเทศ เข้ามาในประเทศไทย แล้วต่อเครื่องไปยังสนามบินอื่นในไทย ไม่ว่าเที่ยวบินเดิมหรือเปลี่ยนเที่ยวบิน ให้ศุลกากรตรวจสัมภาระที่สนามบินแห่งแรก และตรวจหีบห่อสัมภาระที่บรรทุกใต้ท้องเครื่องบิน ที่สนามบินปลายทาง เพื่อตรวจสอบสิ่งของที่ต้องเสียภาษีอากร

สำหรับผู้โดยสารขาเข้าจากต่างประเทศ ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนทางอากาศยานที่ได้รับการยกเว้นอากร คือ ของส่วนตัวที่เจ้าของนำเข้ามาพร้อมกับตนสำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพและมีจำนวนพอสมควร มีราคารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ให้ได้รับยกเว้นอากร

หากสิ่งของอื่นที่ผู้โดยสารนำติดตัวเข้ามาพร้อมกับตน (Accompanied Baggage) ในวันเดินทางมาจากต่างประเทศ โดยไม่เป็นของต้องห้าม หรือของต้องจำกัดในการนำเข้ามีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท หรือเป็นของที่มีมูลค่าเกินกว่า 20,000 บาท และนำติดตัวเข้ามาเพียงชิ้นเดียว ให้อยู่ในอำนาจของพนักงานศุลกากรที่ดูแลโดยตรงจัดเก็บอากรปากระวาง

ความหมายของอากรปากระวาง หมายถึง อากรที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกเก็บจากของที่ผู้เดินทางพาติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร ณ จุดผ่านแดนถาวรหรือจุดผ่อนปรนทางการค้า โดยไม่ต้องผ่านพิธีการใบขนสินค้า แต่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมศุลกากรกำหนด ทั้งนี้กรมศุลกากรกล่าวว่า เพื่อความสะดวกของผู้โดยสารที่นำสิ่งของเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ต้องผ่านพิธีการที่ยุ่งยาก

ส่วนประกาศที่ 60 / 2561 สาระสำคัญ คือ กรณีเดินทางออกนอกประเทศ หากจะนำของมีค่าออกไป เช่น นาฬิกา กล้องถ่ายวีดีโอ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ที่มีเครื่องหมาย เลขหมาย (Serial Number) ที่สามารถตรวจสอบได้ให้แจ้งต่อพนักงานศุลกากร ณ ห้องที่ทำการศุลกากรบริเวณห้องผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับการยกเว้นอากรในฐานะของใช้ส่วนตัวตอนนำติดตัวกลับเข้ามาพร้อมกับตน แต่ถ้าเป็นของมีค่าหรือของส่วนตัวที่ผู้โดยสารนำติดตัวไปขณะเดินทางออกนอกประเทศ ที่ใช้เป็นปกติวิสัยในระหว่างการเดินทาง หรือเครื่องประดับการแต่งกายตามปกติ ไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานศุลกากร

อย่างไรก็ตาม ประกาศทั้ง 2 ฉบับยังสร้างความสับสนและสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ที่เดินทางอยู่ไม่น้อย เนื่องจากกรณีที่เดินทางออกนอกประเทศแล้วนำสิ่งของประเภท กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก นาฬิกา ซึ่งต้องแจ้งล่วงหน้าในฐานะของใช้ส่วนตัวก่อนเดินทางออกนอกราชอาณาจักร พร้อมทั้งนำภาพถ่ายของสิ่งของที่นำมาแจ้งจำนวน 2 ชุด ต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ที่จะเดินทางเพราะโดยปกติสิ่งของเหล่านี้ถือเป็นของใช้ส่วนตัวอยู่แล้วแม้บางยี่ห้อ บางรุ่น อาจจะมีราคาสูง แต่คนส่วนใหญ่ย่อมพกติดตัวไปเวลาเดินทาง

การให้แจ้งล่วงหน้าพร้อมภาพถ่าย หากผู้โดยสารแจ้งพร้อมกันทุกคนก่อนเดินทาง ปัญหาต่อไปจึงไม่ได้อยู่ที่ผู้ที่โดยสาร แต่อยู่ที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะมีจำนวนมากเพียงพอกับการปฏิบัติงาน และจะอำนวยความสะดวกให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยรวดเร็วได้หรือไม่ เพราะท่าอากาศยานนับว่ามีจำนวนผู้โดยสารหนาแน่นมากพออยู่แล้ว การใช้เวลาเช็คอินก่อนขึ้นเครื่องยังต่อคิวกันยาวเหยียด หากว่าต้องส่งรูปถ่ายพร้อมกับการตรวจสอบสิ่งของที่นำไปย่อมต้องมีขั้นตอนการตรวจสอบความถูกต้องอีก ว่าสิ่งของกับภาพถ่ายที่นำออกไปนั้นตรงกันหรือไม่ และเมื่อมีขั้นตอนในส่วนนี้ ผู้ที่จะเดินทางต้องเร่งรีบมายังสนามบินล่วงหน้าก่อนเวลาปกติ

หากเกิดการล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เดินทางตกเครื่องบิน หรือขึ้นเครื่องบิน เพื่อเดินทางไม่ทัน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อขั้นตอนที่ต้องใช้เวลานานนี้ ?

เป็นเรื่องที่ดีหากศุลกากรจะทำการตรวจสอบสิ่งของมีค่า ที่นำออกไปหรือเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีหรือสำแดงเท็จ เพราะหากว่าสิ่งของที่นำออกไปมีมูลค่าสูง และไม่ได้แจ้งต่อศุลกากรก่อนตอนนำออกไป เมื่อนำกลับเข้ามาอาจเกิดปัญหาว่าเป็นสิ่งของที่ซื้อมาใหม่และอยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ ในข้อนี้ย่อมเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้โดยสารกับเจ้าหน้าที่อาจเกิดการโต้เถียงกันเมื่อนำกลับเข้ามาและไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าได้มาอย่างไร หรือเมื่อนำสิ่งของเข้ามาในราชอาณาจักรที่ไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว หรือแม้ที่เป็นของใช้ส่วนตัวแต่มีจำนวนมากเกินไปเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษี

ก่อนหน้านี้เคยมีกรณี ดาราสาวคนดังซื้อกระเป๋ามียี่ห้อหรือแบรนด์เนมจากต่างประเทศในราคาที่เกิน 20,000 บาท แล้วโพสต์รูปลงในอินสตาแกรม ซึ่งต่อมาเมื่อมีคนเข้าไปเห็นรูปกระเป๋าหลายใบในอินสตาแกรม จึงมีการตั้งคำถามว่าเมื่อนำเข้ามาในราชอาณาจักรแล้วได้จ่ายภาษีถูกต้องหรือไม่ แต่ดาราคนดังกล่าวได้ออกมาตอบโต้ว่า ยังไม่ได้นำกระเป๋าดังกล่าวมาแต่อย่างใด

การหลบเลี่ยงภาษีมักมีวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น กรมสรรพากรเคยตรวจสอบพบว่า ผู้มีรายได้ที่เป็นบุคคลธรรมดามีเงินได้จำนวนมาก ใช้วิธีหลบเลี่ยงภาษีด้วยการตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลายๆคณะ และจะมีชื่อผู้มีเงินได้อยู่ในทุกคณะบุคคล เพื่อเป็นการกระจายฐานรายได้ของผู้มีเงินได้ที่แท้จริง ทำให้เสียภาษีอัตราต่ำ

ล่าสุดกรมศุลกากรได้ประกาศผ่อนผันในช่วงสงกรานต์ที่มีคนเดินทางเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องแจ้งของใช้ส่วนตัว ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ในระยะยาวกรมศุลกากรจะมีวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมอย่างไร?