ภาษีอี-คอมเมิร์ซ
ลงพิมพ์ในโพสต์ทูเดย์ : 12 กันยายน 2560
ดร. รุจิระ บุนนาค
12 กันยายน 2560

การใช้เทคโนโลยีออนไลน์ย่อโลกให้เล็กลง ทำให้พรมแดนทางภูมิศาสตร์แบบเดิม ๆ ลดความสำคัญ และทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายทางธุรกิจของผู้ประกอบการน้อยลง เช่น แต่เดิมหากจะส่งพิมพ์เขียวงานออกแบบเป็นกระดาษ หรือซีดีเพลง เข้ามาจากต่างประเทศจะต้องชำระภาษีศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าสิ่งของดังกล่าว แต่ถ้าส่งเข้ามาในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ไฟล์ภาพ ไฟล์เสียง ผู้นำเข้าจะไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว

นอกจากนี้การพัฒนาและการขยายตัวของเทคโนโลยีออนไลน์ข้ามประเทศยังเป็นช่องโหว่ที่ทำให้รัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้กรมสรรพากรมีแนวคิดที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมถึงธุรกิจต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ระหว่างประเทศ

ในด้านการจัดเก็บภาษีจากการขายสินค้าออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ตนั้น สินค้าตามเว็บไซต์ ต่าง ๆ เช่น AMAZON, LAZADA, ALIBABA ฯลฯ ที่ขายออนไลน์มีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เช่น เสื้อผ้า ของแต่งบ้าน จนถึงสินค้าแปลก ๆ เช่น อุกกาบาต น๊อตจากยาน อพอลโล เป็นต้น การซื้อสินค้าออนไลน์นั้น ในต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะสะดวกและราคาถูกกว่า จนผู้บริโภคไม่ไปห้างสรรพสินค้า

บรรดาห้างสรรพสินค้าในสหรัฐอเมริกา เช่น Macy’s, Kmart และ Sears จึงต้องปิดสาขาลงจำนวนหลายร้อยแห่ง ร้านกาแฟชื่อดังอย่าง Starbucks ได้ปิดเครือข่ายร้านขายชา Teavana ของตนหลายร้อยแห่งทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะกิจการห้างสรรพสินค้าที่ร้านค้าเหล่านี้ตั้งอยู่นั้นซบเซาไม่ดีเท่าที่ควร เช่นเดียวกันกับห้างสรรพสินค้าในจีนหลายแห่งเริ่มที่จะปิดตัวลง เพราะสู้ร้านค้าออนไลน์ไม่ได้ ผู้เช่าพื้นที่ค้าในห้างสรรพสินค้า เลิกเช่าและเปลี่ยนไปเปิดร้านค้าออนไลน์แทน
แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งเว็บขายสินค้าออนไลน์ ALIBABA เคยกล่าวไว้ว่า ภายใน 10 ปี ALIBABA จะใหญ่กว่า WALMART ห้างค้าปลีกยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา เพราะหาก WALMART จะเพิ่มยอดขายโดยมีลูกค้าใหม่อีก 10,000 คน จะต้องสร้างคลังสินค้าเพิ่ม และสร้างสิ่งต่าง ๆ รวมถึงลงทุนอื่น ๆ อีกมากมาย แต่สำหรับตัวเขาแล้ว ใช้เพียงแค่คอมพิวเตอร์สำหรับเป็นเซิร์ฟเวอร์สองเครื่องเท่านั้นเอง จากแนวโน้มในปัจจุบันจะเห็นว่า คำกล่าวของแจ็ค หม่า สามารถเป็นจริงได้ไม่ยาก

สำหรับห้างในประเทศไทยได้รับผลกระทบจาก 2 ทาง ทางแรก คือ การขายสินค้าออนไลน์ ทั้งจากเว็บไซต์ในประเทศ และเว็บไซต์ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ คนไปเดินห้างเพื่อดูตัวอย่างสินค้าของจริง แล้วไปสั่งซื้อทางออนไลน์ เพราะราคาถูกกว่าเนื่องจากไม่มีหน้าร้าน ไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ อีกทางหนึ่ง คือ การขายสินค้าแผงลอยบนฟุตปาธใกล้กับห้าง ในทำเลทอง เช่น สยามแสควร์ ซึ่งมักเป็นสินค้าแฟชั่นเครื่องประดับ ผู้ขายไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ และไม่ต้องเสียภาษีด้วย ทำให้ผู้ที่เช่าพื้นที่ในห้างได้รับผลกระทบ จนบางครั้งรัฐบาลต้องจัดเทศกาลช้อปช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีอย่างถูกต้อง แล้วนำค่าซื้อสินค้ามาหักลดหย่อนภาษีได้

การขายสินค้าหรือให้บริการออนไลน์นั้น หากเป็นการกระทำโดยเว็บไซต์ไทย ขายสินค้าให้บริการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด แต่หากเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ ขายสินค้าหรือให้บริการกับลูกค้าชาวไทย โดยส่งสินค้ามาจากต่างประเทศ หรือให้บริการในต่างประเทศ กรณีนี้เป็นการยากที่จะให้ผู้ขายสินค้าเสียภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย เพราะอยู่นอกขอบเขตอำนาจ (Jurisdiction) ของกรมสรรพากร

กรณีที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ ได้แก่ บริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ เช่น Facebook และ Google มักจดทะเบียนในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ เช่น ไอร์แลนด์ แต่ประกอบกิจการให้บริการโฆษณากับบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศอื่น เช่น อังกฤษ และสหภาพยุโรป และมีกำไรมหาศาล แต่ไม่ต้องเสียภาษีในประเทศที่ลูกค้าจ้างให้โฆษณานั้น เพราะไม่มีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศดังกล่าว แล้วนำผลกำไรกลับสู่สำนักงานในไอร์แลนด์ โดยเสียภาษีแต่ในไอร์แลนด์ ซึ่งอัตราภาษีน้อยกว่า และบริษัทเหล่านี้ยังเสียภาษีน้อยมาก เพราะใช้การตั้งบริษัทในเครือหลาย ๆ แห่ง และจ่ายค่าบริการระหว่างกันเอง อีกนัยหนึ่งคือ Facebook จ่ายค่าบริการให้กับ Facebook ด้วยกัน เพื่อการให้บริการกับ Facebook กำไรที่เหลือจากการจ่ายค่าบริการต่าง ๆ ดังกล่าวที่จะนำไปคำนวณภาษี จึงมีอยู่น้อยนิด
ดังนั้น จึงมีการแก้ไขปัญหานี้ โดยอังกฤษออกกฎหมายที่เรียกว่า Diverted Profits Tax หรือที่เรียกกันว่า Google Tax เพื่อให้อำนาจกับสรรพากรของตนประมาณการกำไรของบริษัทเหล่านี้จากการให้บริการในอังกฤษ เป็นกฎหมายฉบับแรก ๆ ของโลกที่คำนวณภาษีจากยอดขายแทนที่จะคำนวณจากกำไรของบริษัท และสหภาพยุโรปได้แก้ไขกฎหมายของตนให้บริษัทต่าง ๆ ต้องชำระภาษีในประเทศที่ได้มีการใช้บริการของบริษัทนั้น ไม่ใช่ประเทศที่บริษัทเหล่านี้จดทะเบียนจัดตั้ง ทำให้การเลี่ยงกฎหมายโดยไปจดทะเบียนในประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ ๆ ไม่ได้ผลอีกต่อไป และยังมีประเทศอื่นอีกหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และรัสเซีย ซึ่งแก้ไขกฎหมายในทำนองเดียวกัน จึงทำให้บริษัทข้ามชาติทั้งหลายที่ให้บริการออนไลน์ในประเทศตนต้องเสียภาษีให้กับประเทศตนแล้ว

สำหรับในภูมิภาคเอเชีย อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกที่ได้เริ่มสอบสวนบริษัทเหล่านี้ ทั้ง Google, Facebook, Twitter และหาทางจัดเก็บภาษี เพราะบริษัทเหล่านี้มีรายได้ค่าโฆษณาจำนวนมหาศาลจากอินโดนีเซีย

สำหรับประเทศไทย กรมสรรพากรได้ศึกษากรณีต่าง ๆ จากต่างประเทศ และปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อร่างกฎหมายใหม่สำหรับใช้กับธุรกิจออนไลน์ แนวทางที่กรมสรรพากรวางไว้เพื่อแก้ไขช่องโหว่ดังกล่าว คือ การออกกฎหมายให้กรณีที่หากเว็บไซต์ต่างประเทศ มีข้อความหรืออักษรเป็นภาษาไทยแล้ว กรมสรรพากรมีอำนาจตีความว่า เว็บไซต์ดังกล่าวมีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรมีอำนาจประเมินภาษีจากธุรกรรมการขายสินค้า ให้บริการโฆษณาในประเทศไทยจากบริษัทเหล่านั้นได้ ดังนั้น แม้เว็บไซต์ดังกล่าวจะเป็นของบริษัทต่างประเทศที่ไม่มีสำนักงานในประเทศไทย ก็ต้องเสียภาษีให้กับประเทศไทย

การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จัดว่าเป็นความเหมาะสม เป็นไปตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สอดคล้องกับแนวทางสากลระหว่างประเทศ ซึ่งผลที่ได้รับนอกจากจะทำให้ประเทศไทยได้รับเงินภาษีจำนวนมากจากรายได้มหาศาลของบริษัทใหญ่ ๆ ข้ามชาติเหล่านี้แล้ว ยังให้ความเป็นธรรมและเสมอภาคกับผู้ประกอบการในประเทศไทย ที่ต้องเสียภาษีจากการขายสินค้าและให้บริการของตนในประเทศด้วย

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น