มวยเด็ก
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 30 พฤศจิกายน 2561
ดร. รุจิระ บุนนาค
30 พฤศจิกายน 2561

Facebook : Rujira Bunnag

Twitter : @RujiraBunnag

นักมวยเด็กวัย 13 ปี “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” วัย 13 ปี หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก “น้องเล็ก” ที่ต้องสังเวยชีวิตคาสังเวียน โดนน็อกระหว่างขึ้นชกกับ “ฟ้าใหม่ ส.พระนคร” สาเหตุจากเลือดคั่งในสมอง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ทำให้ผู้คนทั้งในวงการมวย และนอกวงการรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ครั้งนี้

บรรดานักมวย และกุนซือมวยหลายคน มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอุบัติเหตุ เนื่องจาก “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” เกิดอาการเมาหมัด และล้มจนศีรษะกระแทกพื้น แม้แต่นักมวยมืออาชีพ หากเกิดเหตุการณ์ล้มศีรษะกระแทกพื้นเช่นนี้ โอกาสรอดมีน้อยเช่นกัน

การกระทบกระเทือนศีรษะทางการแพทย์เรียกว่า “Concussion (คอนคัสชั่น)” อาการที่เป็นสัญญาณเตือนหลังจากที่ศีรษะถูกกระแทกอย่างรุนแรง เช่น คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ไวต่อแสงและเสียง มีปัญหากับการทรงตัวหมดสติ กรณีนักกีฬา อาจแสดงได้จากการสับสน ไม่สามารถเพ่งความสนใจได้ ความจำเสื่อมชั่วขณะ อาจจำไม่ได้ว่าใครที่ทำแต้มได้

การเสียชีวิตของนักมวยเด็กครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง อีกครั้งหนึ่งว่า สมควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชกหรือไม่ ตามพ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ. 2542 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน “นักมวย” หมายถึง ผู้ซึ่งเข้าแข่งขันกีฬามวย นักมวยที่จดทะเบียนได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์ แต่ในความเป็นจริงนักมวยที่อายุต่ำกว่า 15 ปี มีมากกว่าหนึ่งแสนคน ที่ลงทะเบียนกับสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยมีไม่ถึงร้อยละหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความพยายามที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.กีฬามวย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …โดยประเด็นหลัก คือ การพัฒนา และระดับกีฬามวยไทยให้เป็นกีฬา และกำหนดให้เด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี ไม่ให้ชกมวยอาชีพ โดยจะนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาช่วย การชกมวยจะต้องปฏิบัติตามหลักกีฬาสากลมีมาตรการป้องกันอันตรายทางร่างกาย และมีกฎกติกาการเล่นที่เหมาะสม ต้องคำนึงถึงหลักทางกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานเด็กและการกีฬา ซึ่งมีการปกป้องและคุ้มครองสิทธิเด็ก ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการชกมวย รวมถึงการพัฒนาผู้ฝึกสอน และกรรมการชี้ขาดบนเวทีให้เป็นไปตามหลักสากล

ประเด็นที่ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชก มีทั้งผู้สนับสนุนและคัดค้าน

ฝ่ายที่สนับสนุนพิจารณาจากผลวิจัยทางการแพทย์ ที่มีการศึกษาวิจัย และติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก จำนวน 300 คน แบ่งเป็นประสบการณ์ชกไม่เกิน 2 ปี 2 – 5 ปี และมากกว่า 5 ปี เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปจำนวน 200 คน ที่มีความเป็นอยู่ใกล้เคียงกันพบว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองเด็ก โดยพบว่า มีเลือดออกในสมองบริเวณที่ฉีกขาดจากการถูกชกที่ศีรษะ นอกจากนี้ พบว่า เซลล์สมอง และใยประสาทฉีกขาด และถูกทำลาย ระบบประสาทติดขัด สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ แม้เด็กจะยังพูดจา เดินเหิน ทำอะไรได้ตามปกติ แต่ในระยะยาว อาการเหล่านี้ที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยสะสมไปเรื่อยๆ อาจเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ และพาร์กินสันในระยะยาว

แม้การทำงานด้านทักษะการใช้กล้ามเนื้อ และมือด้านที่ไม่ถนัดของนักมวยเด็กดีกว่าเด็กทั่วไป เพราะผ่านการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง แต่การทำงานของสมองด้านความจำลดลง สามารถนำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญา หรือภาวะสมองเสื่อมได้

ฝ่ายที่คัดค้านพิจารณาว่า การห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชกมวยเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะการฝึกมวย ควรฝึกตั้งแต่เด็ก เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง กระดูกจะได้มีความแข็งแกร่ง ทั้งเด็กจะได้รู้ชั้นเชิงการต่อสู้ มีความอดทน นักมวยที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ส่วนมากเริ่มชกมวยตั้งแต่อายุ 6 -8 ขวบ การที่จะให้เด็กมาชกตอนอายุ 15 ปี อาจไม่ทันกาล อาจสู้นักมวยต่างชาติไม่ได้ นอกจากนี้ นักมวยที่ชกมวยมาตั้งแต่เด็กจำนวนไม่น้อยที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากจน การเอาอายุมาเป็นเกณฑ์กำหนดการขึ้นชก ทำให้เด็กหมดโอกาสมีความก้าวหน้าในอาชีพนักมวย ที่สามารถแบ่งเบาภาระครอบครัว หรือส่งตัวเองเรียน นักมวยหลายคนที่เรียนจบได้ เงินค่าเล่าเรียนล้วนมาจากการขึ้นชกมวย สำหรับความปลอดภัยบนสังเวียนควรแก้ไขโดยการเข้มงวดต่อ เรื่อง กฎกติกา การกำหนดระยะพักฟื้น
มวยไทยเป็นกีฬาที่อยู่คู่กับชาวไทยมาตั้งแต่อดีตกาล เป็นศิลปะการต่อสู้ที่ได้ยอมรับจากทั่วโลก แม้จะเป็นที่ทราบดีว่า กีฬาหมัดมวยนี้อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย การกระทบกระเทือนที่ศีรษะย่อมเกิดได้กับทุกกีฬา

ย้อนไปเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 มีภาพยนตร์อเมริกันเรื่อง “Concussion” ชื่อไทย “คนเปลี่ยนเกม” สร้างจากเรื่องจริงของนายแพทย์ชาวไนจีเรีย ดร.เบนเน็ต โอมาลู (Dr. Bennett Omalu) ผู้ทำงานชันสูตรศพอยู่ในสหรัฐอเมริกา สังเกตถึงความผิดปกติของสมองของอดีตนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ จนพบว่า ความรุนแรงของการกระแทกแต่ละครั้งของกีฬาอเมริกันฟุตบอล สามารถทำให้ผู้เล่นได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงที่สมอง (Concussion)

เมื่อ ดร.เบนเน็ต โอมาลู ต้องการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ กลับต้องเผชิญหน้ากับเนชั่นแนลฟุตบอลลีก (NFL-National Football League) ของสหรัฐอเมริกา เพราะการค้นพบอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ NFL แม้ต่อมาจะมีการออกกฎเกณฑ์การเล่นให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะห้ามการเล่น หรือความรักของคนอเมริกันต่ออเมริกันฟุตบอลที่เป็นทั้งกีฬาประจำชาติ และจิตวิญญาณของคนอเมริกันได้

เช่นเดียวกับมวยไทย ศิลปะแม่ไม้มวยไทย เป็นมรดกจากบรรพบุรุษ จนเรียกได้ว่า อยู่ในจิตวิญญาณของคนไทยเช่นกัน เป็นเหมือนวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเข้ากับสายเลือดคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล

เชื่อว่า หากผู้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬามวยเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ย่อมหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บสาหัสของนักมวยได้ เช่น จัดให้แพทย์ตรวจสุขภาพของนักมวยก่อนการแข่งขัน จัดให้มีแพทย์แผนปัจจุบัน หรือพยาบาลวิชาชีพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ประจําสนามมวยในขณะที่มีการแข่งขัน สนามต้องได้มาตรฐานเป็นต้น

ทั้งนักมวยต้องได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอก่อนการขึ้นชกมวย โดยเมื่อชกแล้วต้องมีการพักอย่างน้อย 21 วันก่อนการขึ้นชกครั้งต่อไป ในกรณีนักมวยเด็ก “เพชรมงคล ป.พีณภัทร” มีการขึ้นชกไม่ต่ำ 170 ครั้ง ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อเริ่มชกตั้งแต่ 8 ขวบ จนถึงอายุ 13 ปี การชกจะทำได้ประมาณ 85 ครั้ง การเสียชีวิตของนักมวยเด็กนี้ ควรนำมาเป็นบทเรียน ผู้อยู่ในวงการมวย ควรหันมาเอาใจใส่ต่อการขึ้นชกของนักมวยแต่ละคนให้มากขึ้น

ธุรกิจมวยไทย ไม่ว่ามวยเด็ก และมวยผู้ใหญ่ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละกว่าแสนล้านบาท แม้กฎหมายในอนาคตจะออกมามีผลใช้บังคับประการใด คงเป็นการดีไม่น้อย ถ้าทุกฝ่ายคำนึงว่ามวย คือ กีฬามากกว่าการพนันขันต่อ เพราะหากมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง การคำนึงถึงชีวิตความปลอดภัยของนักมวยคงลดลง

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น