รักไม่เลือกเพศ
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 22 ธันวาคม 2560
ดร. รุจิระ บุนนาค
22 ธันวาคม 2560

รักไม่มีพรมแดน รักไม่มีศาสนารักไม่แบ่งชั้นวรรณะ ขึ้นชื่อว่า ความรักนั้นยิ่งใหญ่มาก ใหญ่จนเรียกได้ว่า ปัจจุบันความรักไม่ได้จำกัดเพียงหญิงและชาย แต่ความรักไม่มีอะไรกีดกันที่เพศเดียวจะรักกัน

หลายประเทศยอมรับความรักในเพศเดียวกัน ถึงขนาดยินยอมให้จดทะเบียนสมรสกันได้ เหตุผลการยอมรับความรักในเพศเดียวกัน เพราะมองว่า การขัดขวางการสมรสของคนเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดต่อสิทธิของพลเมืองในเรื่องความเท่าเทียมกัน

สหรัฐอเมริกาได้ยอมรับในเรื่องความรักในเพศเดียวกันเช่นกัน เห็นได้จากคำตัดสินศาลสูงสุดสหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ในคดี Obergefell v. Hodges ซึ่งเป็นคดีที่คู่รักเพศเดียวกันในรัฐโอไฮโอ ได้ฟ้องร้องกรณีที่รัฐโอไฮโอไม่ยอมรับการสมรสของคู่แต่งงานเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสจากรัฐอื่นคือ รัฐแมรีแลนด์ซึ่งเป็นรัฐที่อนุญาตให้มีการสมรสของคนรักเพศเดียวกันได้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2556 โดยศาลได้ตัดสินให้การสมรสของคนรักเพศเดียวกันในทุกรัฐของสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย การสั่งห้ามการสมรสของคนรักเพศเดียวกันถือเป็นการขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ

การอนุญาตให้เพศเดียวกันสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในประเทศแถบยุโรป เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายให้เพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย โดยกฎหมายเริ่มใช้ได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 และยังมีอีกหลายประเทศ เช่น นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก สเปน โปรตุเกส ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส สาธารณรัฐไอร์แลนด์

เมื่อปีพ.ศ. 2510 อังกฤษและเวลส์ ได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดทางเพศ (The Sexual Offences Act) มีเนื้อหาสำคัญ คือ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายและชายด้วยกันไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เท่ากับเป็นการยอมรับความรักของเพศเดียวกัน และในปีพ.ศ.2557มีการบังคับใช้กฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้อย่างสมบูรณ์

แคนนาดา บราซิล อุรุกวัย เปอร์โตริโก โคลัมเบีย แอฟริกาใต้ กรีนแลนด์ เกาะกวม หมู่เกาะพิตแครนด์ ต่างยอมรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน

ประเทศแถบเอเชีย อย่างไต้หวัน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 ศาลฎีกาของไต้หวันได้มีคำวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ห้ามการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันขัดต่อรัฐธรรมนูญ

แต่ที่ฮือฮาจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 น่าจะเป็นข่าวที่นายทิม วิลสัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศออสเตรเลีย ได้ขอนายไรอัน โบลเจอร์ ซึ่งเป็นคู่รักแต่งงานกลางที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำที่แสนหวาน ขณะที่กำลังเปิดอภิปรายร่างกฎหมายการสมรสของคนเพศเดียวกัน ซึ่งได้มีการจดบันทึกการขอแต่งงานนี้ลงในรายงานประชุมของรัฐสภาด้วย งานนี้เรียกได้ว่าสร้างความประทับใจและเรียกเสียงปรบมือดังไปทั่วสภา และหนึ่งสัปดาห์ต่อมารัฐสภาออสเตรเลียลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้

ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย แม้กฎหมายของอินโดนีเซียจะไม่ได้บัญญัติห้ามพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน แต่บางพื้นที่อย่างเช่น จังหวัดอาเจะห์ มีกลุ่มมุสลิมสายอนุรักษ์นิยมที่บังคับใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด ถือว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างเด็ดขาด และเคยลงโทษคู่รักชาย โดยการโบยด้วยหวายถึง 85 ที ต่อหน้าสาธารณชน เพื่อไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง

หลายประเทศไม่ยอมรับการสมรสของเพศเดียวกัน เพราะมองว่าทำให้สังคมไม่มีความเป็นระเบียบ คนรักเพศเดียวกันที่อยู่ด้วยกัน และเอาเด็กมาเลี้ยงอาจเป็นอันตรายต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและทำให้สถาบันครอบครัวสั่นคลอน

แต่หลายประเทศได้ยอมรับความรักในเพศเดียวกัน ถึงขนาดได้ตรากฎหมายออกมารับรองว่าการสมรสกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศหรือ “LGBT” (L-lesbian G-gay B-bisexualและ T-transgender/transsexual) คนข้ามเพศ หรือบางทีเรียกว่าชาวสีรุ้งทั่วโลกต่างเรียกร้องความรักของตนเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย

การอนุญาตให้เพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้ มีรูปแบบที่ต่างกันไป บางประเทศให้ศักดิ์และสิทธิแก่การสมรสของคนเพศเดียวกัน เท่ากันกับการสมรสของคนต่างเพศกัน ในขณะที่บางประเทศให้คู่รักเพศเดียวกันไปทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินและกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างกัน และนำสัญญานั้นมาจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ และสิทธิหน้าที่ต่าง ๆ ระหว่างกันเป็นไปตามสัญญาที่จดทะเบียน บางประเทศจะไม่มีระบบการจดทะเบียนใด ๆ ทั้งสิ้น ที่ยอมรับการอยู่ร่วมกินฉันท์สามีภรรยาของคู่รักเพศเดียวกัน

ประเทศไทยในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน แต่ยอมรับการอยู่กินฉันท์สามีภรรยา

ในกรณีคู่สมรสชายหญิงในประเทศไทยจดทะเบียนสมรสจะมีเรื่องสินส่วนตัวและสินสมรสเข้ามาเกี่ยวข้อง

สินส่วนตัว หมายถึง ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส ส่วนสินสมรส หมายถึง ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

การสมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อสามีและภรรยาหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่า ๆ กัน

ในกรณีคู่รักเพศเดียวกันในประเทศไทยอยู่กินฉันท์สามีภรรยา จะมีเรื่องทรัพย์สินเข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อกฎหมายไม่ยอมรับการจดทะเบียน การจัดการทรัพย์สินจึงต้องบังคับใช้เช่นเดียวกับสามีและภริยา ที่อยู่กินด้วยกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกัน ถือเป็นกิจการห้างหุ้นส่วน แม้จะไม่ได้ร่วมกันเปิดเป็นห้างขายของ แต่ถือเป็นห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน เมื่อไม่ได้ทำสัญญาตกลงว่าจะมีหุ้นส่วนคนละเท่าไร ย่อมต้องถือว่า มีหุ้นส่วนเท่า ๆ กันคนละครึ่ง ทรัพย์สินที่หามาได้ระหว่างอยู่กินกันฉันท์สามีภริยา จึงต้องแบ่งกันคนละครึ่ง

แม้จะรักกันมากเพียงใด แต่เมื่อความรักถึงจุดจบต่างคนต่างไป การที่มีแนวทางจัดการทรัพย์สิน ย่อมทำให้จากกันด้วยดี

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น