ร่างรัฐธรรมนูญของอินเดียและไทย
ลงพิมพ์ในเดลินิวส์ : 12 ตุลาคม 2558
ดร. รุจิระ บุนนาค
12 ตุลาคม 2558

ประเทศไทยกลับเข้าสู่บรรยากาศของการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยใหม่ อีกครั้ง หลังจากที่มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ทำให้เข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญแบบนับหนึ่งใหม่ ตั้งแต่สรรหาประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งจะมาทำหน้าที่แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ ภายหลังจากที่สิ้นสุดหน้าที่ลงเมื่อ ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะมีหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์ และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่าง ๆ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับ ก็จะจัดทำร่างพระราชบัญญัติขึ้นเสนอต่อสภานิติบัญญัติเพื่อพิจารณาต่อไป แต่ไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจของสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่เดิม

ในการสรรหาผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ นับว่าเป็นขั้นตอนที่ยากลำบาก เพราะจะต้องเลือกเชิญผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะประธานท่านเดิมคือ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ท่านได้สร้างผลงานไว้ดีแล้ว แต่บังเอิญร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ท่านร่างขึ้นไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ จนในที่สุดจึงได้ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ นักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ซึ่งเคยเป็นทั้งอดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และได้ผ่านการร่างรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ รับเป็นประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญคนใหม่

การร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดีย จะแตกต่างจากประเทศไทย เพราะจะเป็นช่วงที่ประเทศอินเดียเพิ่งได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษใหม่ ๆ ผู้ที่มีบทบาทในการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียคือ ดร.เอ็มเบดการ์ คือ บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ เอ็มเบดการ์ (Dr. Babasaheb Bhimrao Ramji Ambedkar) เป็นชนชั้นอธิศูทรหรือจัณฑาลเกิดในตระกูลที่ยากจน ซึ่งในประเทศอินเดียตามศาสนาฮินดูมีการแบ่งวรรณะเป็น 4 วรรณะ คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพทย์ ศูทร ส่วนจัณฑาลไม่ถือเป็นวรรณะ

ในวัยเด็ก ดร.เอ็มเบดการ์ เกิดในครอบครัวที่ยากจนการศึกษาเล่าเรียนก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก แม้ต้องอดมื้อกินมื้อแต่บิดามารดาอยากให้เล่าเรียนสูง ๆ จึงพยายามทำงานทุกอย่างเพื่อส่งเสียให้ได้รับการศึกษา ด้วยความที่เป็นจัณฑาลถูกบรรดาเพื่อน ๆ และครูที่เกิดในวรรณะที่สูงกว่ารังเกียจแม้กระทั่งไม่ยอมให้นั่งเก้าอี้ ขณะเรียนต้องปูกระสอบนั่งเรียนบนพื้นห้องทุกวัน ตอนกินน้ำก็ต้องให้บรรดาเพื่อน ๆ คอยเทน้ำลงในปาก หากดื่มจากแก้วตรง ๆ ก็เกรงว่าจะเกิดเสนียดจัญไร

แต่ยังนับว่าโชคดีเมื่อครูคนหนึ่งในวรรณะพราหมณ์มีเมตตาคอยหาโอกาสแบ่งอาหารให้รับประทาน และเห็นว่าเขามีความพยายามตั้งใจเรียน สาเหตุที่เขาถูกรังเกียจเพราะเป็นลูกจัณฑาลและนามสกุลก็บ่งบอกถึงความเป็นจัณฑาล จึงได้ช่วยแก้ไขทะเบียนโรงเรียนให้ใช้นามสกุลของครูคนนั้น ซึ่งก็คือนามสกุลปัจจุบันของ ดร.เอ็มเบดการ์ นั้นเอง

ดร.เอ็มเบดการ์ ได้อุตสาหะสามารถเรียนจบชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ และต่อปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งปริญญาเอกจากที่เดียวกัน และปริญญาโทที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ แห่งลอนดอน ในประเทศอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีปริญญาอีกหลายใบรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ปริญญา เป็นเนติบัณฑิตอังกฤษ เคยทำงานเป็นทนายความในศาลสูงของบอมเบย์ (หรือเมืองมุมไบของอินเดียในปัจจุบัน) และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของอินเดีย นับว่าเป็นจัณฑาล คนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

ดร.เอ็มเบดการ์ มีความตั้งใจแน่วแน่ที่ต้องการทำลายระบบวรรณะอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของอินเดีย หลังจากจบการศึกษาจากต่างประเทศก็ได้กลับมายังบ้านเกิด เริ่มต้นด้วยการทำงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความเกี่ยวกับการต่อต้านวรรณะจนมีคนเห็นด้วยจำนวนมาก และยังทำงานด้านการเมืองเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวจัณฑาล และการต่อสู้กับจักรวรรดิอังกฤษจนได้รับชัยชนะ

ผลงานชิ้นสำคัญของ ดร.เอ็มเบดการ์ คือการเป็นประธานร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของอินเดีย หลังจากที่ต่อสู้และรอคอยมาทั้งชีวิต เพื่อต้องการปลดปล่อยคนอินเดียเป็นอิสระจากระบบวรรณะด้วยการเขียนลงในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า “ไม่ให้ประชาชนอินเดียเลือกปฏิบัติต่อกันและกันด้วยเหตุผลทางวรรณะ และวรรณะจัณฑาลนั้นก็ให้ยุบทิ้งเสียให้สิ้นซาก”

ดร.เอ็มเบดการ์ เป็นนักต่อสู้เพื่อต่อต้านความอยุติธรรมของระบบชนชั้นวรรณะและเมื่อทำงานด้านการเมืองแล้ว ต่อมาก็ได้ถวายตัวเป็นพุทธมากะ นับถือศาสนาพุทธ ได้ชักชวน ชาวจัณฑาลเป็นจำนวนมากให้มานับถือศาสนาพุทธ และยังผลักดันให้มีสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เป็นพระธรรมจักรปรากฏที่ธงชาติของอินเดียจนถึงปัจจุบันทั้งที่ชนชั้นปกครองส่วนใหญ่เป็นฮินดู และยังได้นำสัญลักษณ์หัวเสาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมาใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติอีกด้วย ได้เขียนหนังสือเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลายเล่ม อาทิ เช่น พุทธธรรม (Buddha and His Dhamma) ลักษณะพิเศษของพุทธศาสนา (The Essential of Buddism) เป็นต้น

ทุก ๆ ปี ที่เมืองบอมเบย์ ในวันที่ 6 ธันวาคม จะมีประชาชนชาวอินเดียต่อแถวเป็นคิวยาวหลายหมื่นคน ยาวหลายกิโลเมตร เพื่อเคารพสุสานของ ดร.เอ็มเบดการ์ คนทั่วไปเห็นแล้วย่อมรู้สึกแปลกใจที่มีคนศรัทธามากมายขนาดนั้น นอกจากนี้ที่หน้ารัฐสภาอินเดียยังมีอนุสาวรีย์ของ ดร.เอ็มเบดการ์ ในฐานะ “บิดาแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย” เป็นอนุสรณ์สถาน คงเหลือทิ้งไว้แต่ คุณงามความดีให้อนุชนคนรุ่นหลังได้สรรเสริญ “จากต้นหญ้าที่ต่ำต้อย สู่ไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงา” ด้วยความเพียรพยายามและอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ขณะนี้เรากำลังจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ประเทศไทยเราไม่ได้มีปัญหาเรื่องระบบวรรณะ เพราะว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้ทรงยกเลิกระบบทาสไปนานแล้วซึ่งก็คล้ายกับระบบวรรณะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ นับว่าเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลก และมีรัฐธรรมนูญที่มีฉายาที่แปลกที่สุดในโลกคือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม ซึ่งหมายถึงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2490 ที่มีการร่างไว้แล้ว แต่ต้องเก็บซ่อนไว้ใต้ตุ่ม เพราะเกรงว่าจะมีผู้มาพบก่อนเวลาอันสมควร รวมทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511 ที่ใช้เวลาร่างยาวนานที่สุดในโลกคือ 9 ปี 4 เดือน 17 วัน

หากเทียบกับประเทศต้นแบบประชาธิปไตยอย่างเช่นประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวนับแต่ประกาศใช้เมื่อปี ค.ศ. 1789 (พ.ศ. 2332) ซึ่งมีเพียง 7 มาตราเท่านั้น เพราะผู้ร่างเห็นว่าอนาคตไม่แน่นอนและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงเปิดโอกาสให้ตีความและปรับปรุงได้ตามกาลสมัย ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมแทนการร่างใหม่ทั้งฉบับ

นับว่าเป็นโอกาสที่ดี ประเทศไทยกำลังจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง จึงขอเป็นกำลังใจให้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประเทศไทยเราจะได้มีรัฐธรรมนูญใหม่ในเร็ววันนี้

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
Cookie policy for development and experience and the experience of use that has previously been studied in detail in the policy and can be controlled by controlling the installation.setting

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
You can choose your cookie settings by turning them on/off. Cookies in each category can be customized according to your needs, except for essential cookies.

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น