รถฉุกเฉิน: ทุกวินาทีมีค่า
ลงพิมพ์ในเดลินิวส์ : 15 พฤศจิกายน 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
15 พฤศจิกายน 2562

Facebook : Rujira Bunnag

Twitter : @RujiraBunnag

“ขับรถราคาเป็นล้าน แต่สันดานราคาสลึง” เป็นวลีที่มีคนติดแฮชแท็ก (Hashtag) จำนวนมาก ซึ่งมาจากคนที่เห็นคลิปที่ภรรยาของผู้ป่วย ถ่ายคลิปจากรถฉุกเฉินแล้วนำมาโพสต์ลงในเฟสบุ๊กในช่วงวันลอยกระทง เรียกได้ว่าทุกคนที่ได้ดูคลิปต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์

คลิปมีความยาวเกือบหนึ่งนาที ในคลิปแสดงถึงพฤติกรรมของคนขับรถเบนซ์สีดำ ที่ไม่เพียงแต่ไม่ยอมหลีกทางให้รถฉุกเฉิน  แต่ดูเหมือนจะพยายามขับขวางทาง และก่อนที่รถเบนซ์สีดำ จะขับลงทางด่วน ได้เปิดกระจกและชูนิ้วกลางให้คนขับรถฉุกเฉิน 

        โชคดีที่ผู้ป่วยในรถฉุกเฉินถึงโรงพยาบาลทันท่วงที ภรรยาผู้ป่วยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ที่นำคลิปมาโพสต์นั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะประจานคนขับรถเบนซ์สีดำ แต่ต้องการให้เป็นอุทาหรณ์

ให้รู้ว่า สำหรับผู้ป่วยในรถฉุกเฉินทุกวินาทีล้วนมีค่ายิ่ง

     ทุกคนที่ได้ดูคลิป ต่างอยากให้คนขับรถเบนซ์สีดำออกมาขอโทษต่อสังคม ไม่ใช่เพียงแต่ส่งตัวแทนนำผลไม้ไปเยี่ยมคนเจ็บที่โรงพยาบาล สังคมมองว่า ทำผิดแล้วกลับไม่รู้สำนึก  ขับรถราคาเป็นล้าน มีฐานะมั่นคง แต่จิตใจกลับไม่สูงส่ง  คนขับรถฉุกเฉินที่เป็นเพียงลูกจ้างกินเงินเดือนไม่มาก ยังให้ข้อคิดว่า การขับรถหลบรถฉุกเฉินถือเป็นการช่วยชีวิตคนป่วย อันเป็นการสร้างกุศลอย่างหนึ่ง
      คลิปนี้ไม่ใช่คลิปแรกที่คนขับรถมีพฤติกรรมแบบนี้  หลายครั้งภาพ คลิปที่ปรากฏในสื่อ สังคมออนไลน์ แสดงเห็นให้เห็นถึง เมื่อรถฉุกเฉินเปิดสัญญาณฉุกเฉิน คนขับรถคันหน้ากลับไม่ยอมขับหลบให้พ้นทาง มิหนำซ้ำคนขับรถบางราย กลับแกล้งขับให้ช้าลง

คนขับที่มีพฤติกรรมขับรถไม่ยอมหลบรถฉุกเฉิน ขับแบบไม่สนใจผู้อื่น บางคนแกล้งให้สัญญามือหรือไฟผิด โดยหวังให้รถคันหลังเกิดอุบัติเหตุแบบนี้มีมานานแล้ว เพียงแต่ในอดีตไม่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างกล้องหน้ารถ หรือโทรศัพท์มือถือ ทำให้ไม่สามารถบันทึกพฤติกรรมที่ไม่ดีของคนเหล่านี้ให้สังคมได้รับรู้

ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 “รถฉุกเฉิน” หมายความว่า รถดับเพลิงและรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบหรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนด

รถดับเพลิง รถพยาบาล และรถอื่นๆที่เป็นของราชการ สามารถทำเป็นรถฉุกเฉินได้
แต่กรณีรถเอกชน ต้องได้รับอนุญาตก่อน เช่น รถมูลนิธิต่าง ๆ ที่ใช้ไซเรนเพื่อรับ-ส่งผู้บาดเจ็บ จะต้องมีใบอนุญาตทุกคันให้ติดหรือใช้สัญญาณไซเรน

เนื่องจากมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 คนขับรถฉุกเฉินสามารถขับรถโดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรบางข้อ แต่ต้องเป็นการขับในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หยุดรถหรือจอดรถในที่ห้ามจอดรถ ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้ ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุดแต่ต้องลดความเร็วให้ช้าลงตามสมควร

ดังนั้น ตามกฎหมายนี้ เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่กฎหมายกำหนด ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน กรณีที่เป็นทางแยกต้องไม่จอดขวางแยก ให้ตรงไปก่อนแล้วค่อยจอดชิดซ้ายเมื่อพ้นทางแยก ต้องจอดให้เร็วที่สุดผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินห้าร้อยบาท

     มีคนจำนวนมากเห็นว่า โทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท ถือว่าน้อยไปควรเพิ่มโทษปรับให้สูงขึ้น และมีโทษจำคุก เพื่อให้เกิดความเข็ดหลาบและไม่มีใครเอาเยี่ยงอย่าง 

แนวทางปฏิบัติในการหลีกทางให้กับรถฉุกเฉิน (1) เมื่อเห็นสัญญาณไฟและได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน ผู้ขับขี่ควรตั้งสติ (2) มองกระจกหลังเพื่อกะระยะของรถฉุกเฉินที่แล่นมา (3) เมื่อดูปริมาณรถทั้งซ้ายและขวาที่อยู่ใกล้แล้วพบว่า ไม่มีอันตรายและสามารถเบี่ยงชิดซ้ายได้ ให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วรถและเบี่ยงซ้ายเพื่อหลีกทางให้รถฉุกเฉิน ( 4) หากไม่สามารถหลีกทางได้ด้วย เพราะมีรถมาก ให้หยุดชะลอรถให้นิ่งเพื่อให้รถฉุกเฉินวิ่งผ่าน (5) เมื่อรถพยาบาลฉุกเฉินวิ่งผ่านไป ห้ามขับตาม (6) กรณีรถติดและรถพยาบาลฉุกเฉินอยู่ด้านหลังให้พิจารณาว่า ควรชิดซ้ายหรือชิดขวา ถ้าไม่มีรถคันใดหลีกทางให้ ให้ผู้ขับขี่เลือกว่า จะหลบทางไหนและเปิดไฟเลี้ยว เพื่อให้สัญญาณให้รถฉุกเฉิน สามารถแซงผ่านไป

จากข้อมูลของกองสาธารณสุขฉุกเฉิน ผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตระหว่างนำส่งโรงพยาบาลมีถึงร้อยละ 20 สาเหตุมาจากรถไม่หลีกทางให้รถฉุกเฉิน คนที่อยู่ในรถฉุกเฉินส่วนมากมักเจ็บป่วยร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน อุบัติเหตุที่รุนแรง เวลาจึงมีความสำคัญยิ่ง บางครั้งรถฉุกเฉินกำลังไปรับผู้ป่วย แต่รับไม่ทัน ทำให้ผู้ป่วยต้องเสียชีวิตเช่นกัน

           ตามประมวลกฎหมายอาญาการกระทำโดยเจตนาได้แก่ กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นเจตนาประสงค์ต่อผล เป็นเจตนาที่ตั้งใจจะให้เกิดผลนั้น  เช่น ไม่ชอบเพื่อนบ้าน จึงเอายาฆ่าแมลงใส่ถังน้ำดื่มปริมาณมาก  มีเจตนาให้เกิดผล คือ เพื่อนบ้านตาย 

เจตนาย่อมเล็งเห็นผล ผู้กระทำรู้สำนึกในการกระทำ และในขณะเดียวกัน ผู้กระทำย่อมเล็งเห็นผลของการกรทำนั้น เช่น ยิงปืนด้วยความคะนอง เข้าไปในรถประจำทาง ที่มีคนนั่งเต็มตอนยิงต้องคาดการณ์ได้ว่า กระสุนต้องโดนคนได้รับบาดเจ็บ หรือถึงตาย ซึ่งจะมีโทษทำร้ายร่างกาย หรือฆ่าคนตายโดยเจตนา

กรณีที่รถคันหน้า เมื่อเห็นรถฉุกเฉิน แต่กลับไม่หลบ ซึ่งวิญญูชนย่อมทราบดีว่า ผู้ป่วยต้องถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด แสดงให้เห็นได้ว่า คนขับรถคันหน้า ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ผู้ป่วยอาจถึงแก่ความตายได้ จึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาได้

ผู้ขับขี่ควรคำนึงเสมอว่า หากบุคคลที่คุณรักอยู่ในรถฉุกเฉินคันนั้น คุณยังจะมีพฤติกรรมเช่นนั้นหรือไม่ ทุกๆวินาทีล้วนแต่มีค่าต่อผู้ป่วย เพราะต้องช่วงชิงความตายจากเงื้อมมือของมัจจุราช

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น