คานถล่ม – ถนน 7 ชั่วโคตร

ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 5 สิงหาคม 2565                                  

ดร.รุจิระ  บุนนาค

กรรมการผู้จัดการ

Marut Bunnag International  Law Office

rujira_bunnag@yahoo.com

Twitter : @RujiraBunnag

ก่อนอื่นต้องขอแสคงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565  คานสะพานที่มีน้ำหนักมากกว่า 5 ตัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสะพานกลับรถ ถนนพระรามที่ 2 กม. 34 หน้าโรงพยาบาลวิภาราม สมุทรสาคร ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่กำลังอยู่ในระหว่างปิดปรับปรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่กำลังสัญจรบนช่องทางหลัก (Main Road) ขาเข้ากรุงเทพฯ

            เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย โดยประชาชนในรถเกิดเหตุ เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย และเจ้าหน้าที่กรมทางหลวง เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย และมีรถได้รับความเสียหายจำนวน 3 คัน

            สะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือชื่อทางการ คือ ถนนพระราม 2 แต่ถูกขนานนามว่า ถนน 7 ชั่วโคตร เพราะถนนเส้นนี้ มีการก่อสร้างมาโดยตลอด ไม่เสร็จสมบูรณ์เสียที สะพานกลับรถที่เกิดเหตุ ใช้งานมากว่า 30 ปี  จึงจำเป็นต้องซ่อมแซม  เริ่มซ่อมแซมตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2565 กำหนดเสร็จในเดือนสิงหาคม  พ.ศ. 2565  

            การซ่อมประกอบด้วยการทุบรื้อพื้นสะพานและเปลี่ยนพื้นใหม่ จำนวน 2 ช่วง งานสกัดโครงสร้างสะพานที่เสียหาย ส่วนที่อยู่บนคานคอนกรีตอัดแรง รวมทั้งบริเวณพื้นที่ทางขึ้นทางลง การซ่อมบำรุงไม่ได้มีการปิดช่องทางการจราจร เพราะมีรถสัญจรมาก เนื่องจากเป็นเส้นทางผ่านเข้าออกสู่ภาคใต้ สะพานกลับรถอีกด้านได้ซ่อมแซมเรียบร้อยแล้ว  โชคดีที่ไม่มีปัญหา

            หลังจากที่คานถล่มครั้งนี้ ไม่กี่ชั่วโมง  เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมทางหลวงลงมาดูพื้นที่เกิดเหตุ และให้สัมภาษณ์ทำนองว่า  “ไม่ได้เกิดจากการสะเพร่า เพราะมีมาตรการดูแลแต่ละโครงการอย่างรัดกุม และเน้นย้ำความปลอดภัย และมีการตรวจสอบอย่างเต็มที่ จึงเชื่อว่า เหตุการณ์นี้ น่าจะเป็นอุบัติเหตุ” แต่ต่อมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนนี้ มีท่าทีเปลี่ยนไป ให้สัมภาษณ์ในภายหลังยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

            ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมีความเห็นว่า มีการรื้อสะพานบางส่วนออก เพื่อทำใหม่ ทำให้หมุดที่ยึดติดกับตัวคานถูกถอนออก ประกอบกับมีฝนตกหนักมาก ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ทั้งเมื่อรถแล่นจะมีแรงสั่นสะเทือน จึงทำให้คานเคลื่อนและพังถล่มลงมา  บางท่านเห็นว่า การรื้อพื้นออกทำให้การคานรับน้ำหนักไม่มีความสมดุล  ถ้าใครได้ฟัง จะสรุปได้ประมาณว่า อาจเกิดจากความผิดพลาดที่เกิดจากคน ซึ่งหมายถึงบุคลากรในระบบงาน หรือ Human Error

            เชื่อว่าคำถามที่เกิดในใจของทุกคน ใครจะรับผิดชอบ ?  อย่างน้อยที่สุด ผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ควรประกอบไปด้วย  1) บริษัทผู้รับเหมา 2) ผู้ควบคุมงาน และ 3) เจ้าของงาน

            ตามที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมทางหลวงให้สัมภาษณ์ในตอนแรกว่า ไม่ได้เกิดจากการสะเพร่าอาจทำให้มีการตีความไปได้ว่า เกิดจากเหตุสุดวิสัย

            เมื่อพิจารณาแล้วยังคลาดเคลื่อนตามหลักความเป็นจริง ทุกอาชีพล้วนต้องมีมาตรฐานวิชาชีพ คนที่ประกอบอาชีพแต่ละอย่างต่าง ต้องมีความระมัดระวังมากกว่าบุคคลทั่วๆไปที่ไม่ได้ ประกอบวิชาชีพนั้น  ดังนั้น แม้จะไม่ได้ประมาทโดยตรงในขณะที่ผลัก หรือดันให้คานลงมา แต่ถือได้ว่าเป็นความประมาทที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรกับผู้ที่มีวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมบำรุง รวมถึงการละเว้นกระทำการ คือ การที่ไม่ได้ปิดถนนเพื่อกั้นไม่ให้รถผ่านไปมา ซึ่งจะหลีกเลี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่นี้ได้

            สำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่ง การฟ้องละเมิดสามารถฟ้องบริษัทผู้รับเหมา และกรมทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิต เช่น ค่าปลงศพ  ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดอุปการะ  การคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาทรัพย์

            ศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขดำที่ อ.557/2556  คดีหมายเลขแดงที่  อ.446/2562 วางหลักไว้ว่า กรมทางหลวงมีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาทางหลวงให้ปลอดภัยต่อการสัญจร หากถ้าไม่ดูแล ย่อมถือว่าละเลยต่อหน้าที่ เมื่อเกิดมีความเสียหาย จะต้องรับผิดชอบ

            นอกจากจะฟ้องคดีแพ่งแล้วยังสามารถฟ้องคดีอาญา ฐานประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย บุคคลที่ถือได้ว่ามีส่วนในการกระทำความผิด เช่น  คนงาน นายช่างผู้ควบคุมงาน บริษัทผู้ควบคุมงาน อธิบดีกรมทางหลวง ซึ่งหากรับสารภาพ ศาลคงจะปราณีพิพากษาให้รออาญา ซึ่งหมายความว่า ไม่ต้องรับโทษจริง แต่หากกระทำผิดอีก จะได้รับโทษจริง ทั้งคดีเก่าและคดีใหม่

            คำพิพากษาฎีกาที่    1909/2516  จำเลยขับรถยนต์บรรทุกเสาไฟฟ้าโดยใช้ล้อพ่วง เมื่อล้อรถพ่วงหลุด    ทำให้เสาตกลงมาขวางถนน จนกระทั่งค่ำแล้วจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีโคมไฟ   หรือเครื่องสัญญาณอย่างอื่น เพื่อให้ผู้ใช้ถนนเห็นเสาที่ขวางถนนอยู่นั้น   เป็นเหตุให้รถที่แล่นมาชนเสามีคนตายและบาดเจ็บ ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยประมาท    และผลเสียหายเกิดขึ้นจากการที่จำเลยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จำเลยจึงมีความผิด

               มาตรา  227 ผู้ใดเป็นผู้มีวิชาชีพในการออกแบบ ควบคุมหรือ ทำการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอน อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือวิธีการอันพึงกระทำการนั้น โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

              คำพิพากษาฎีกาที่    1909/2516   จำเลยที่ 1 เป็นวิศวกรผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ย่อมมีความรู้ความชำนาญในการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคาร  การที่จำเลยที่ 1 รับจ้างออกแบบคำนวณต่อเติมและควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยต้องออกแบบและคำนวณโครงสร้างให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่จำเลยที่ 1 กลับประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยไม่ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ และออกแบบไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ เป็นเหตุให้อาคารเกิดเหตุพังทลาย มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก พฤติการณ์และสภาพความผิดของจำเลยที่ 1 จึงร้ายแรง สมควรลงโทษสถานหนัก

            เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย และยังถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่า มาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างของเรายังคงเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามเช่นเดิม

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น