แก้ไขกฎหมายประกันสังคม

ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 20 กุมภาพันธ์ 2558

ดร. รุจิระ บุนนาค

20 กุมภาพันธ์ 2558

อโรคยา ปรมลาภา ความไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ ทุกคนล้วนแต่อยากมีสุขภาพดี แต่ความเป็นจริงความเจ็บป่วยก็เป็นที่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของคนทุกคน การดูแลรักษาเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นแล้วเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับทุกคน ทุกคนต่างต้องการหลักประกันด้านสุขภาพยามเมื่อเจ็บป่วย

การประกันสุขภาพของรัฐในปัจจุบันมี (1) บัตรทอง การบริหารจัดการทำโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้สิทธิแก่บุคคลที่ไม่มีสิทธิประกันสังคมและสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (2) ประกันสังคม การบริหารจัดการทำโดยสำนักงานประกันสังคมให้สิทธิแก่ลูกจ้าง ที่ทำงานกับธุรกิจเอกชน (3) สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ การบริหารจัดการทำโดยกรมบัญชีกลาง

ถ้าเทียบกันแล้ว สวัสดิการข้าราชการและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทองจะได้เงินจากรัฐร้อยละ 100 ในขณะที่รัฐจ่ายสมทบให้แก่ประกันสังคมร้อยละ 33 เพื่อให้ดูแลผู้ประกันตน

กฎหมายประกันสังคมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ผู้ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ. ประกอบไปด้วย (1) ผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้างซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ (2) ผู้ประกันตนที่เคยเป็นผู้ประกันตนและได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองเดือน และต่อมาความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงเพราะสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่มีประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป และแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม ภายในหกเดือนนับแต่วันสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน (3) บุคคลอื่นใดซึ่งมิใช่ลูกจ้าง แต่มีความประสงค์เป็นผู้ประกันตน จึงแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม

เงินสมทบ คือ เงินที่นายจ้าง ลูกจ้างจะต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับ ทั้งนี้รัฐบาลจะออกเงินสมทบเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง

ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร เงินสงเคราะห์ เงินบํานาญชราภาพ และกรณีถึงแก่ความตายก็จะได้รับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์กรณีตาย จำนวนเงินที่ผู้ประกันตนแต่ละรายจะได้รับจะแตกต่างกันไปตามเงื่อนไขและอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีการนำระยะเวลาของการส่งเงินสมทบมาเป็นหลักในการคำนวณ

ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนที่จะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน โดยมีเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ทดแทน คือ ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน(1) กรณีของการถูกเลิกจ้าง ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนในระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบ เป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน (2) กรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญา ที่มีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์ทดแทนในระหว่างการว่างงานในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

จากข้อมูลกองทุนประกันสังคมปีพ.ศ.2557 มีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 13,625,658 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกันตนที่สิ้นสุดลงเพราะสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง แต่ประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไป และแสดงความจำนงต่อสำนักงานประกันสังคม จำนวนทั้งสิ้น 1,124,765 คน

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ วาระแรกแล้ว ร่างฉบับใหม่ได้ตัดสิทธิผู้ประกันตน กรณีลาออกจากงาน จากเดิมที่ผู้ประกันตนจะได้เงินช่วยเหลือขณะว่างงาน จำนวนร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบเป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน เหตุผลในการตัดสิทธิ คือ ผู้ประกันตนบางคนลาออกเพราะหวังสิทธิประโยชน์การว่างงาน ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านต่อร่างฉบับใหม่ขึ้นอย่างมากมาย

หากพิจารณาในภาพรวม การลาออกของลูกจ้างจะมีเหตุผลแตกต่างกันไป การที่สำนักงานประกันสังคมพิจารณา แต่เพียงว่าลูกจ้างลาออก เพียงเพราะหวังเงินประกัน และนำมาตัดสิทธิประโยชน์การว่างงานออกไป ดูจะไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างที่อาจต้องลาออกเพื่อการศึกษา หรือมีการย้ายที่อยู่ทำให้ต้องเดินทางไกล หรือลาออกเพื่อดูแลคนที่เจ็บป่วยในครอบครัว

กฎหมายประกันสังคมที่บังคับใช้ทุกวันนี้ให้เงินค่าคลอดบุตรเพียง 2 คน และสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี ได้มีการนำเสนอให้สำนักงานประกันสังคม ควรพิจารณาให้เงินค่าคลอดบุตร 3 คน และควรสงเคราะห์บุตรแรกเกิดถึงอายุ 15 ปี การช่วยเหลือที่ใช้อยู่ดูเหมือนกับว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่น่าจะแบ่งเบาภาระของผู้ประกันตนได้เท่าที่ควร

ตลาดแรงงานในไทยในปัจจุบันประกอบด้วยแรงงานข้ามชาตินับล้าน และยิ่งการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเสร็จสมบรูณ์ ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานมีมากขึ้น ร่างพ.ร.บ. ฉบับใหม่ ควรให้ความสำคัญต่อแรงงานข้ามชาติ เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ควรมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญ เพราะกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกันตนต้องส่งเงินครบ 15 ปี หรืออายุ 55 ปี จึงมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย เนื่องจากส่วนมากจะกำหนดการจ้างงานเป็นเวลา 4 ปีหรืออยู่ทำงานอายุไม่ถึง 55 ปีก็เดินทางกลับประเทศ จึงควรให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบไม่ถึง 15 ปี และอายุไม่ถึง 55 ปี สามารถเลือกรับสิทธิเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญได้

การแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ที่ตัดสิทธิต่างๆ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวนผู้ประกันตนมีนับสิบล้าน เชื่อได้ว่าเสียงเหล่านั้นย่อมมีความเห็นที่ต่างกันไป

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น