ก.ล.ต.คุมสินทรัพย์ดิจิทัล

ดร.รุจิระ บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ

ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 15 เมษายน 2565
Marut Bunnag International Law Office
rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter : @RujiraBunnag

               ปัจจุบัน กระแสการลงทุนใน “สินทรัพย์ดิจิทัล” (Digital Asset)ได้รับความนิยมจากนักลงทุนรุ่นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก เพราะเชื่อว่า ได้รับผลตอบแทนสูงในเวลาอันสั้น  ตลาดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลจึงเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
              คนมักจะคุ้นหูกับ Cryptocurrency (คริปโทเคอร์เรนซี) หรือเงินตราดิจิทัล แต่แท้จริงแล้ว สินทรัพย์ดิจิทัล  ยังครอบคลุมถึงโทเคนดิจิทัล (Digital Token) หรือเหรียญดิจิทัล (Cryptotoken)  นอกจากนี้ ยังมีสินทรัพย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัลต่างๆ
                ตาม พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 สินทรัพย์ดิจิทัลมี 2 ประเภท ประเภทแรก  คือ   คริปโทเคอร์เรนซี ( Cryptocurrency)   ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ เช่น  บิตคอยน์ (Bitcoin) , อีเธอร์เรียม (Ethereum),   Litecoin,  Ripple, Stellar เป็นต้น
              สิทรัพย์ดิจิทัลประเภทที่สอง  คือ  โทเคนดิจิทัล  (Digital Token)  ซึ่งแบ่งเป็น  2 ประเภทย่อย ได้แก่   โทเคนเพื่อการลงทุน  (Investment Token)  คล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ถือโทเคนจะได้รับผลประโยชน์ต่างๆ จากการถือโทเคนตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดไว้ เช่น ผลกำไรจากการลงทุน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์  (Utility Token)  ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าและบริการต่างๆ ภายในองค์กรใดองค์กรหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น บัตรโดยสารรถไฟฟ้า คูปองในศูนย์อาหาร หรือชิปในคาสิโน  


              บางประเทศยอมรับในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น เอลซัลวาดอร์ที่ยอมรับบิตคอยน์ เป็นเงินตราสามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย  รัฐบาลเอลซัลวาดอร์สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลไปเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ  ในขณะที่บางประเทศได้ห้ามการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด เช่น จีน ที่ถือว่าการลงทุนซื้อขายรวมถึงการขุดเงินดิจิทัลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
              ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด  มีเศรษฐีหน้าใหม่อายุน้อยจำนวนมาก ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบันมีคนไทยเปิดบัญชีเทรดเงินดิจิทัลมากกว่า 1.6 ล้านบัญชี
              จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อกลางเดือนมกราคม พ.ศ. 2565  ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่าทั่วโลกอยู่ที่ 1.94 ล้านล้านดอลลาร์ ซื้อขายต่อวัน 99.56 พันล้านดอลลาร์    บิตคอยน์ เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่าตามราคาตลาดโดยรวมของหลักทรัพย์จดทะเบียน ( Market Cap.) สูงสุด ตามด้วยอีเธอร์เรียม    
                คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดให้มีการลงทุนและซื้อขายภายใต้การกำกับดูแล  แต่ปัจจุบันธุรกิจบางธุรกิจได้ขยายขอบเขตในลักษณะของการยอมรับให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลชำระค่าสินค้าและบริการ  ถือได้ว่ามีความเสี่ยงและอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม  นอกจากนี้ ประชาชนและธุรกิจ อาจมีความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล รวมถึงการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
                เมื่อปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2565   ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และก.ล.ต. จำเป็นต้องเข้ามากำกับดูแล มีการออกกฎเกณฑ์  ที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 โดยกำหนดว่า ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภท จะต้องไม่ให้บริการ สนับสนุน  หรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล   6   คือ     (1)  ไม่โฆษณา ชักชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมเป็นผู้ให้บริการรับชำระค่าสินค้าและบริการ   (2) ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือในการชำระค่าสินค้าและบริการ (3) ไม่เปิด Wallet เพื่อนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (4) ไม่ให้บริการโอนเงินบาท ซึ่งเป็นการโอนจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีของบุคคลอื่น (5) ไม่ให้บริการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลจากบัญชีของลูกค้าไปยังบัญชีอื่น (6)ไม่ให้บริการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการรับชำระค่าสินค้าและบริการ
                ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล หมายถึง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล  แต่ไม่ได้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน บริษัทประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต   บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  ได้แก่ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล  นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล  ที่ปรึกษาสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล 
               การกำกับดูแลในเรื่องนี้ อาจเกิดผลอย่างชัดเจน ถ้ามีการให้ความรู้ในเรื่องบทลงโทษของการฝ่าฝืน 
               แม้ตามกฎหมายไทยยอมรับการชำระหนี้ด้วยเงิน อย่างไรก็ตาม หากภาคเอกชนยอมรับการซื้อขายสินค้า/บริการชำระและซื้อของด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล  ถือว่าเป็นความสมัครใจทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย การกำกับดูแลข้างต้นไม่สามารถที่จะควบคุมได้  หรือ นักลงทุนบางรายอาจเลือกที่จะเทรดกับแพลตฟอร์มต่างประเทศแทน  เพราะไม่เพียงแต่จะ เหรียญให้เลือกจำนวนมาก แต่ยังมีสภาพคล่องไหลเวียนมากกว่า เนื่องจากมีการซื้อ-ขายจากทั่วทุกมุมโลก 
                 อย่างไรก็ตาม  ผู้ที่จะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนให้เข้าใจอย่างดี  ทั้งควรระมัดระวังความเสี่ยงจากการลงทุนหรือถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งต้องระวังข้อความต่างๆที่ส่งมายังโทรศัพท์เคลื่อนที่  อีเมล เพราะอาจนำมาสู่การถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวส่วนตัว

Marut Bunnag Copyright @2020

 


Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น