ไทยกับรถยนต์ไฟฟ้า

ดร.รุจิระ บุนนาค
กรรมการผู้จัดการ
ลงในแนวหน้า : 8 เมษายน 2565
Marut Bunnag International Law Office
rujira_bunnag@yahoo.com
Twitter : @RujiraBunnag

งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 (มอเตอร์โชว์ 2022) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 3 เมษายน พ.ศ. 2565 ที่ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพค เมืองทองธานี โดย ผู้จัด “มอเตอร์โชว์” เปิดเผยว่า กระแสรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถอีวี Electric Vehicle (EV) ที่มีการเปิดตัวมากกว่า 20 ยี่ห้อ และได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นอย่างมาก
รถยนต์ไฟฟ้าหรือ Electric Vehicle (EV) มีด้วยกันทั้งหมด 4 ประเภท คือ
(1) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle, HEV) เป็นยานยนต์ไฟฟ้าแบบผสม มีทั้งการใช้เครื่องยนต์สันดาปและมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อนทำงานร่วมกัน ซึ่งสามารถเปลี่ยนพลังงานจากการเบรกมาเป็นพลังงานไฟฟ้าเก็บในแบตเตอรี่ และสามารถนำพลังงานออกมาใช้ได้ ข้อดี คือ มีเครื่องยนต์ที่เงียบกว่ารถทั่วไป ข้อเสีย คือ มีค่าบำรุงรักษาสูง และช่างต้องมีความชำนาญ
(2) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Vehicle, PHEV) พัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ไฮบริด PHEV ขับเคลื่อนด้วยพลังงานมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สันดาป สามารถเติมพลังงานไฟฟ้า โดยการเสียบปลั๊กไฟฟ้าจากไฟบ้านโดยตรง หรือสถานีชาร์จไฟมาเก็บที่เเบตเตอรี่ ข้อดี คือ วิ่งในระยะทางที่ไกลและเร็วขึ้น มีการปล่อยมลพิษน้อยลง ข้อเสีย คือ ค่าใช้จ่ายในการดูแลรถยนต์ค่อนข้างสูง เพราะต้องดูแลทั้ง 2 ระบบ
(3) รถยนต์ไฟฟ้าเซลเชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV) ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อน แหล่งพลังงานมาจากก๊าซไฮโดรเจน ที่จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศที่เซลเชื้อเพลิง ทำให้ได้พลังงานส่งกำลังให้กับมอเตอร์ไฟฟ้าใช้ในการขับเคลื่อน ข้อดี คือ สามารถเติมไฮโดรเจน เหมือนกับการเติมก๊าซNGV ที่ใช้เวลาในการเติมไม่นาน ข้อเสีย คือ หากเกิดการรั่วไหล จะติดไฟง่าย เพราะก๊าซไวไฟมาก
(4) รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle, BEV) ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนเพียงอย่างเดียว รถประเภทจะมีแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่มากกว่ารถประเภทอื่นๆ สามารถวิ่งได้ในระยะทางราว 300-400 กม.ต่อการชาร์จเต็ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของแบตเตอรี่ที่ติดตั้งมาภายในรถยนต์ ข้อดี คือ ไม่ทำให้เกิดมลพิษในขณะขับเคลื่อน เนื่องจากไม่ปล่อยมลพิษเลย ข้อเสีย คือ แล่นไม่ได้ไกลเทียบกับรถยนต์ทั่วไป และต้องใช้เวลาในการชาร์จค่อนข้างนาน
สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในงานจัดมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ จะเน้นไปที่รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) และรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)
ย้อนไป วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ (บอร์ดอีวี)
การที่จะให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก บอร์ดอีวีเล็งเห็นว่า ต้องมีการสร้างขนาดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ก่อน ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องออกมาตรการสนับสนุน เพื่อให้คนในประเทศหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ทั่วโลกต่างสนับสนุนแนวโน้มของการรักษ์โลก บอร์ดอีวีตั้งเป้าไว้ว่า จะผลักดันให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ในปีพ.ศ. 2573 และในปีพ.ศ.2579 ประเทศไทยควรต้องมีรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้มากถึง 1.2 ล้านคัน
เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูง เมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป หรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ดังนั้น จึงต้องออกมาตรการช่วยให้ราคาจำหน่ายของรถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ
เมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ครม.ได้ออกมาตรการทางภาษี คือ กรณีรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน (รถยนต์นั่ง) ประเภท BEV (รถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่) ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ปรับลดอากรศุลกากรในปีพ.ศ. 2565-2566 ทั้งนี้ การนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคันที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี กรณีมีอัตราอากรไม่เกินร้อยละ 40 ให้ได้รับการยกเว้นอากร ส่วนกรณีเกินร้อยละ 40 ให้ลดอัตราอาการลงอีกร้อยละ 40 ขณะที่การนำเข้าทั่วไป ให้ได้รับการลดอัตราอากร จาก ร้อยละ 80 เหลือร้อยละ 40 และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่ง ประเภท BEV จากเดิม ร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ในปีพ.ศ. 2565-2568
ส่วนมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ปีพ.ศ. 2565-2568 กรมสรรพสามิตจะมีเงินอุดหนุน 70,000 บาทต่อคัน สำหรับรถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง และช่วยเงินอุดหนุน 150,000 บาทต่อคันสำหรับรถยนต์นั่งที่มีขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ครอบคลุมทั้งกรณีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)
ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของรถยนต์นั่ง กรณีรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาทต่อคัน กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตตามมูลค่าร้อยละ 1 สำหรับรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด และให้เงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน สำหรับรถจักรยานยนต์ ประเภท BEV ครอบคลุมทั้งกรณีรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) และการนำเข้ารถจักรยานยนต์สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU)

          มาตรการดังกล่าว ส่งผลต่อราคาของรถยนต์ไฟฟ้าทันที ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายบางยี่ห้อ โดยเฉพาะที่นำเข้าจากประเทศจีน ในบางรุ่น ราคาลดลง 100,000-200,000 บาท 

แม้ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะถูกลงมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุด ที่รัฐบาลและผู้ผลิตรถไฟฟ้าไม่ได้กล่าวถึงคือ เมื่อใช้รถไฟฟ้าไปแล้วระยะหนึ่ง แบตเตอรี่ย่อมเสื่อมไปโดยสภาพ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง จะมีราคาสูงมาก สำหรับรถไฟฟ้าบางยี่ห้อ การเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่ อาจมีราคาสูงถึง 50 % ของราคารถไฟฟ้าใหม่ หรืออาจสูงกว่านั้น จนทำให้ผู้ใช้มีความรู้สึกว่า ซื้อรถไฟฟ้าใหม่อีกคันคุ้มกว่าการเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่

หากรัฐบาลส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าอย่างจริงจัง ควรคำนึงถึงปัญหาเรื่อง การเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่แล้วมีราคาแพงมากด้วย รวมถึงส่งเสริมให้มี สถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) สำหรับรถไฟฟ้าให้แพร่หลาย

เมื่อมีมาตรการ ส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกด้านอย่างจริงจัง คนไทยจะได้กล้าเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้ากัน

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น