ยื่นบัญชีทรัพย์สิน
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 7 ธันวาคม 2561
ดร. รุจิระ บุนนาค
7 ธันวาคม 2561

Facebook : Rujira Bunnag

Twitter : @RujiraBunnag

กลายเป็นประเด็นร้อน กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ได้ออกประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ. 2561โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยประกาศฉบับนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ก่อนที่จะมีประกาศฉบับนี้ เมื่อกล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้มีหน้าที่ต้องยื่น คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่ง และพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกสามปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยคู่สมรส ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสนั้น

คนส่วนมากจะนึกถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด รองอัยการสูงสุด กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด

ประกาศฉบับนี้มีการกำหนดตำแหน่งบางตำแหน่ง แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยครอบคลุมถึงสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ คือ อธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คือ ประธานกรรมการ และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คือ ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นต้น

ตำแหน่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก คือ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่รวมถึงมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่มีพระเถระผู้ใหญ่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เมื่อมีประกาศฉบับนี้ออกมา กรรมการสภามหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง ถึงกับยื่นหนังสือขอลาออกหมดทั้งคณะกรรมการ บางมหาวิทยาลัยได้ประกาศว่า หากไม่ทบทวนการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จะลาออกทั้งคณะ เช่นเดียวกับคณะกรรมการ สปสช. บางรายได้ยื่นใบลาออกเช่นกัน

แม้แต่ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับปัจจุบัน สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานวุฒิสภา อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ยังลาออกจากตำแหน่ง นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ในปัจจุบัน นับว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา

โดยทั่วไปคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย จะมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและอนุมัติแผนพัฒนา และแผนปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการศึกษา การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ออกข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย วางระเบียบข้อบังคับ พิจารณาจัดตั้ง ยุบเลิกหน่วยงานในมหาวิทยาลัย พิจารณาให้ความเห็นชอบหลักสูตร การอนุมัติปริญญา การแต่งตั้งถอดถอนอธิการบดี รองอธิการบดี และผู้บริหาร ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานของอธิการบดี และหัวหน้าส่วนงานต่างๆ

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และออกมาคัดค้านพิจารณาว่า หน้าที่ของคณะกรรมการไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร ไม่มีผลประโยชน์ทางการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ไม่มีหน้าที่พิจารณางบประมาณใดๆ ไม่มีส่วนได้เสีย รับเงิน หรือโอกาสร่ำรวยผิดปกติ ผลตอบแทนที่ได้มีเพียงเบี้ยประชุม บางคนเห็นว่าเมื่อมาทำงานที่เสียสละ แต่กลับต้องมีภาระที่ต้องมายื่นบัญชีทรัพย์สิน ทำให้ไม่ต้องการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ทั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ส่วนหนึ่งมาจากตัวแทนภาคเอกชน ถ้าต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทั้งของตัวเอง คู่สมรส และหากเกิดข้อผิดพลาดในการยื่นบัญชีทรัพย์สินอาจต้องรับโทษทางอาญา ยิ่งถ้ากรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นนักธุรกิจ ย่อมจะส่งผลต่อเครดิตและธุรกิจที่ประกอบการ

ฝ่ายที่เห็นด้วยพิจารณาว่า ตำแหน่งคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย แม้จะไม่ได้มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติงบต่างๆ แต่มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนอธิการบดี รองอธิการบดี และผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัย ส่วนมากจะเป็นบุคคลเดิมๆ สลับหมุนเวียนกัน ทำให้ได้รับฉายาว่า “สภาเกาหลัง” มีการเล่นพรรคเล่นพวก มีผลประโยชน์ทางอ้อม ที่ผ่านมาไม่มีใครตรวจสอบได้ มหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีงบประมาณดำเนินการมากกว่าปีละหมื่นล้านบาท แม้จะถูกร้องเรียนให้ตรวจสอบ แต่ไม่สามารถทำอะไรคนที่ถูกร้องเรียนได้ เพราะคนที่มีอำนาจพิจารณาทำการตัดสิน และคนถูกร้องเรียนเคยอุปถัมภ์กัน ยิ่งฝ่ายที่คัดค้านต่อการยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินพากันลาออก ยิ่งทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนมองว่า ถ้าบริสุทธิ์ใจจริงไม่ควรรีบลาออก แม้ฝ่ายที่ลาออก จะลาออกด้วยเหตุผลที่ว่า หากยื่นผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจต้องรับโทษทางอาญา

        สำหรับการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน การบังคับใช้ได้จริง จะมีผลใช้ได้กับข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานในระดับกลางเป็นส่วนใหญ่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักการเมืองและข้าราชการระดับสูง อาจมีบัญชีเงินฝากในต่างประเทศ และทรัพย์สินอยู่ในต่างประเทศ แม้กฎหมายกำหนดให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินในต่างประเทศ แต่การควบคุมและการบังคับอาจไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติ จนเป็นไปไม่ได้

คงต้องติดตามต่อไปว่า การแก้ไขปัญหาแบบถาวรจะออกมาเช่นไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีของบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตพากันลาออก รวมทั้งปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ ที่นับวันมีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น