ยุบพรรค…. แบบประหลาด
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 6 กันยายน 2562
ดร. รุจิระ บุนนาค
6 กันยายน 2562

Facebook : Rujira Bunnag

Twitter : @RujiraBunnag

ทันทีที่นาย ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ได้ดำเนินการยุบพรรค ด้วยคะแนนเสียง เป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการบริหารพรรค ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการเมืองไทย เป็นอย่างมาก

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองเมื่อ ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด มีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงตามที่กำหนด มีจำนวนสาขาพรรคการเมืองหรือไม่ถึงภาคละหนึ่งสาขาเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมืองเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปี ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้งติดต่อกันหรือเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน มีหนี้สินล้นผลตัวตามกฎหมายล้มละลาย เลิกตามข้อบังคับ

การยุบหรือเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ถือเป็นเรื่องแปลก และเป็นกรณีศึกษา เพราะเมื่อพิจารณาถึงเหตุผล เห็นว่าไม่มีเหตุสมควร หรือจำเป็นให้ต้องยุบหรือเลิกพรรค แต่ยังสู้อุตส่าห์ดำเนินการยุบหรือเลิกพรรคด้วยความสมัครใจ

ในที่สุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ลงมติให้ความเห็นชอบในการยุบพรรค ประชาชนปฏิรูป แต่ไม่ได้ให้ความเห็นว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในการคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

อาจเป็นเพราะ กกต. เองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะตัดสินใจอย่างไร หรือจะคำนวณ จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออย่างไร จึงได้ปล่อยช่วงเวลาให้เป็นสุญญากาศ เพื่อรอฟังความคิดเห็นรอบด้าน ประกอบการตัดสินใจ นับว่าเป็นท่าทีที่ปกติของกกต.อยู่แล้ว ที่จะลังเลให้ความคิดเห็นอย่างฟันธง ตรงไปตรงมา

พรรคประชาชนปฏิรูป มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพียง 1 คนคือ
นาย ไพบูลย์ นิติตะวัน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกจากคะแนนเสียงทั่วประเทศจำนวน 45,000 คะแนน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่า จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคยังไม่มีความเห็นว่า จะรับเข้าเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 91 ได้ให้ความคุ้มครองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แม้ว่าพรรคการเมืองถูกยุบ ดังนั้นนาย ไพบูลย์ นิติตะวัน จึงยังมีสภาพเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออยู่

แต่มาตรา 101 (10) ต้องสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายใน 60 วัน นับจากวันยุบพรรค มิฉะนั้นจะขาดจากสมาชิกภาพ หรือขาดจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

การที่พรรคประชาชนปฏิรูปมีคะแนนเสียง 45,000 คะแนน และนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เมื่อยุบพรรค และสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคอื่น จึงเป็นประเด็นว่า จะมีผลกระทบต่อจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อโดยภาพรวมหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 มีหลักการว่า ทุกคะแนนเสียงย่อม ไม่สูญเปล่า ต้องนำมาคิดคำนวณให้ครบถ้วน

แต่มาตรา 90 และมาตราอื่นในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติไว้ในกรณีที่พรรคการเมืองยุบเอง ด้วยความสมัครใจว่า จะต้องปฏิบัติอย่างไรในการคิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ นับว่าเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นหลายประการ ส่วนใหญ่จะไปในทิศทางที่ว่า ต้องนำ คะแนนเสียง 45,000 คะแนน ของพรรคประชาชนปฏิรูป ไปรวมกับคะแนนเสียงของพรรคที่นายไพบูลย์ นิติตะวันสมัครเข้าเป็นสมาชิกใหม่ แล้วนำมาคำนวณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อ พรรคเล็กที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่กี่คน เพราะอาจจะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อบางคนต้องหมดสมาชิกภาพ หรือพ้นการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ อันดับที่เท่าไหร่ ของพรรคใหม่ หรืออาจต้องมาต่อแถวท้ายสุด และจะไม่ได้มีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคใหม่อีกเลย

แต่นั่นอาจไม่ใช่ประเด็นที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ต้องการ แต่สิ่งที่ต้องการ น่าจะเป็นการสร้าง แนว หรือที่เรียกว่า ไพบูลย์โมเดล แบบใหม่ ให้สั่นสะเทือน การเมือง แต่ละย่างเก้านับว่าไม่ธรรมดา

กฎหมายเป็นเรื่องยากในการตีความ บางครั้งการกระทำบางอย่าง ถือว่าผิด เพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้ทำได้ แต่บางครั้งไม่ถือว่าผิด เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ จึงสามารถทำได้

ที่ชัดเจนคือ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาชนปฏิรูปไม่เคยแถลงนโยบายว่า เมื่อได้รับเลือกมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคแล้ว ต่อไปจะยุบพรรคด้วยความสมัครใจ

ถ้าแถลงให้ชัดเจนอย่างนี้ตั้งแต่แรก พรรคประชาชนปฏิรูป อาจไม่ได้รับคะแนนเสียงถึง 45,000 คะแนน หรือได้รับคะแนนเสียงน้อยมากและไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ

ทางเลือกอีกทางหนึ่งคือ ไม่ต้องไปคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่ออีกครั้งให้วุ่นวาย เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับให้กระทำ ต้องยอมรับการตัดสินของประชาชนในการเลือกตั้งขณะนั้น

ประชาชนที่ตัดสินใจลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองใด ตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ แล้วต่อมาพรรคไม่ปฏิบัติตามโยบายนั้น ถือว่า ประชาชนตัดสินใจผิด ถูกลงโทษด้วยการตัดสินใจของตนเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นคือ สีสันของประชาธิปไตย

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น