ย้อนรอยซานติก้า
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 30 ธันวาคม 2559
ดร. รุจิระ บุนนาค
30 ธันวาคม 2559

เหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับ ในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่คร่าชีวิตนักท่องราตรีกว่าครึ่งร้อย และมีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 200 คน กลับเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชดใช้ค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนเพิ่มให้แก่ผู้เสียหาย และญาติผู้เสียชีวิตรวม 12 ราย จากเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมเป็นเงินที่ต้องชดใช้ทั้งสิ้นจำนวน 5,794,250.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คดีถึงที่สุด

คดีนี้ผู้เสียหายและทายาทของผู้เสียชีวิตในฐานะผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อศาลปกครองกลางกรณีละเลยไม่ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมอาคารที่ใช้เป็นซานติก้าผับ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารพ.ศ. 2522 เพื่อให้โครงสร้างของอาคาร ระบบ และอุปกรณ์อยู่ในสภาพมั่นคงและปลอดภัย เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ทำให้ผู้เสียหายและทายาทของผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาในสาระสำคัญ คือ ภายในอาคารไม่จัดให้มีป้ายบอกทางออกและทางหนีไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ มีการก่อสร้างอาคารผิดจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตมีการต่อเติมดัดแปลงใช้เป็นสถานบริการ อาคารตั้งอยู่ติดถนนสุขุมวิท ไม่ไกลจากสำนักงานเขตวัฒนา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ย่อมต้องทราบหรือควรจะทราบว่า อาคารก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จึงมีหน้าที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ จึงถือได้ว่าละเลยต่อหน้าที่ และต้องรับผิดตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งศาลได้สั่งให้ กทม. ชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยได้กำหนดว่าแต่ละรายได้รับค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าใด

เมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว ทั้ง กทม. และผู้ฟ้องคดีทั้ง 12 ราย ได้ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า ความเสียหายของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยจากการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาแก้ปรับเพิ่มค่าสินไหมทดแทน

ความจริงเมื่อศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาแล้ว กทม. ควรจะรีบจ่ายเงินตามคำพิพากษา ไม่ควรอุทธรณ์คดีนี้ เพราะการอุทธรณ์ทำให้ระยะเวลาการดำเนินคดียืดเยื้อออกไป แทนที่ผู้ฟ้องคดีจะได้นำค่าสินไหมไปเยียวยาความเสียหายได้ทันท่วงที กทม. ควรยอมรับว่าความเสียหายเกิดจากการละเลย เพิกเฉยของเจ้าหน้าที่โดยตรง

นอกจากคดีนี้แล้ว ผู้เสียหายและญาติของผู้เสียชีวิตยังได้ฟ้องคดีแพ่งและอาญากับนายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือ “เสี่ยขาว” กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์บราเธอร์ส (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ พร้อมกับจำเลยอื่น ๆ ความผิดฐานทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น และประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย พร้อมกับข้อหาอื่น ๆ

คดีนี้ยื่นฟ้องปีพ.ศ. 2552 ต่อสู้ทั้ง 3 ศาล ใช้เวลาถึง 7 ปี ศาลฎีกามีคำพิพากษาในสาระสำคัญ คือจำคุก 3 ปี นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ และผู้จัดการบริษัทที่จุดพลุหน้าเวทีจนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ โดยไม่รอลงอาญา และยังให้บริษัทที่จุดพลุกับผู้จัดการบริษัท ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 5,120,000 บาท

ตามปกติแล้วคนส่วนมากจะใช้การประเมินด้วยสายตา เมื่อเห็นว่ารูปแบบภายนอกอาคารดูมั่นคง หรูหรา อาคารดังกล่าวคงต้องสร้างถูกต้องตามกฎหมาย มิฉะนั้นคงไม่สามารถตั้งอยู่อย่างนั้นได้ แต่เมื่อเกิดกรณีของซานติก้าผับ ประกอบกับข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอาคารต่อเติมผิดแบบถล่ม ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการประเมินจากภายนอกไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้

ซานติก้าผับ มีทั้งการก่อสร้าง ตกแต่ง และอื่น ๆ ที่ผิดกฎหมาย เช่น นำวัสดุไฟเบอร์กลาสและพอลิสไตรีนซึ่งถือว่าเป็นเชื้อเพลิงมาตกแต่งชั้นใต้ดินมีทางขึ้นลงด้วยบันไดเพียงทางเดียว ไม่ติดตั้งระบบตรวจจับความร้อนและควันไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ ไม่มีระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่บริการ ใช้กระจกประตูหน้าต่างเป็นกระจกธรรมดาซึ่งเมื่อแตกจะเป็นชิ้นส่วนมีคม ทั้งผู้บริหารซานติก้าผับได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ เพื่อพักอาศัย แต่กลับใช้อาคารเป็นสถานบริการถือว่าเป็นการใช้อาคารผิดประเภท ความไม่ปลอดภัยจากอัคคีภัยเป็นสาเหตุลำดับต้น ๆ ของความไม่ปลอดภัยในอาคารประเภทสถานบริการ

หลังจากเหตุการณ์ซานติก้าผับ ได้มีการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ. ควบคุมอาคารฯกําหนดประเภท และระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการพ.ศ. 2555 เพื่อกำหนดให้อาคารที่ใช้เป็นสถานบริการต้องมีความปลอดภัยจากอัคคีภัย

กฎกระทรวงฉบับนี้ ได้วางระบบการจัดการอัคคีภัยของอาคาร เช่น ผนังต้องทําด้วยวัสดุทนไฟ มีการกำหนดจำนวนทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไฟ และประตูหนีไฟที่สอดคล้องกับจำนวนคนที่มาใช้บริการสถานบริการแห่งนั้น เช่น จำนวนคนไม่เกิน 50 คน จํานวนทางออก และประตูทางออกต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งแห่ง หากจำนวน 51-200 คน ต้องไม่น้อยกว่าสองแห่ง

สำหรับจํานวนทางหนีไฟของสถานบริการ หากจำนวนคนไม่เกิน 500 คน จำนวนทางหนีไฟต้องไม่น้อยกว่าสองแห่ง หากจำนวนคน 500-1,000 คน ต้องไม่น้อยกว่าสามแห่ง

ทั้งสถานบริการจะต้องติดป้ายแสดงความจุคนในสถานบริการ โดยให้ยึดแบบถาวรไว้ในตำแหน่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน เช่น บริเวณห้องโถง หรือใกล้ทางเข้าหลัก ป้ายดังกล่าวต้องทำด้วยวัสดุถาวร ทั้งนี้ ความจุคนขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่และอาคารที่ออกแบบ ที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ ซึ่งในทางเป็นจริงแล้ว แทบไม่มีสถานบริการแห่งไหนที่มีป้ายแสดงความจุคน สถานบริการจะต้องจัดให้มีผู้ดูแลระบบความปลอดภัย และการป้องกันอันตรายของสถานบริการอย่างน้อยหนึ่งคน ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพแผนกช่างไฟฟ้า

แม้จะมีการแก้กฎหมาย แต่หากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัว เพิกเฉยเมื่อผู้ประกอบการทำผิด การจะมีกฎหมายเป็นร้อย ๆ ฉบับคงช่วยอะไรไม่ได้มากนัก ทั้งควรต้องลงโทษแก่เจ้าหน้าที่ขั้นเด็ดขาดอันเป็นการเชือดไก่ให้ ลิงดู

นอกจากนี้ ประชาชนด้วยกันต้องช่วยกันสอดส่อง เป็นหูเป็นตา ถึงความไม่ชอบมาพากลของสิ่งก่อสร้าง หรือการต่อเติมอาคารต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยแก่ส่วนรวม

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น