รับมือสึนามิ
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 23 พฤศจิกายน 2561
ดร. รุจิระ บุนนาค
23 พฤศจิกายน 2561

มหันตภัยธรรมชาติมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว อุทกภัย ภูเขาไฟระเบิด สามารถสร้างความเสียหายได้อย่างร้ายแรง สำหรับประเทศไทย และประเทศในแถบเอเชีย ภัยพิบัติอย่างหนึ่งที่สร้างความหายนะคือ การเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ

สึนามิ (Tsunami) เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึง คลื่นที่ท่าเรือ หรือคลื่นชายฝั่ง เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ธารน้ำแข็งไถล คลื่นสึนามิไม่เหมือนคลื่นทะเลทั่วไป เพราะมีความยาวคลื่นมากกว่า

การเกิดสึนามินั้นพยากรณ์ให้แม่นยำได้ยากมาก โดยทั่วไปจะใช้ข้อมูลความสูง และเวลาเดินทางถึงของคลื่น เช่นเดียวกันกับการพยากรณ์แผ่นดินไหว ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามจะพยากรณ์แต่ยังไม่อาจทำได้ว่า จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่ใด และเมื่อใด คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นรุนแรงในครั้งอดีต ทำให้มีการเขียนถึงการล่มสลายของทวีปแอตแลนตีสเลยทีเดียว

คลื่นยักษ์สึนามิที่ร้ายแรงที่สุดในยุคปัจจุบัน คือ คลื่นที่เกิดในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี พ.ศ. 2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 คน ใน 14 ประเทศที่มีชายฝั่งติดกับมหาสมุทรอินเดีย สาเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากนอกจากคลื่นมีความรุนแรงแล้ว สึนามิยังเกิดขึ้นในบริเวณนี้เป็นครั้งแรก ทำให้ไม่มีการป้องกัน เตือนภัย หรืออพยพใดๆ เลย เพราะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศเหล่านี้ ทั้งรัฐและประชาชนจึงไม่มีการเตรียมพร้อมใดๆ

การเกิดสึนามินั้นตามปกติในแถบเอเชียจะเกิดที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีการป้องกันเตรียมพร้อมได้ดี มีการสร้างเขื่อน หรือกำแพงกันคลื่น ซึ่งสามารถลดความเสียหายลงได้ เมื่อปี พ.ศ. 2554 เกิดแผ่นดินไหว ความสั่นสะเทือน 9 ริกเตอร์ ทำให้เกิดสึนามิสูงถึง 15 เมตร ญี่ปุ่นจึงสร้างแนวกำแพงยักษ์สูง 12 เมตรขึ้น เพื่อกันคลื่น นอกจากนี้ยังมีการสร้างกำแพงกั้นคลื่นสึนามิสูง 22 เมตร เพื่อป้องกันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฮามะโอกะ ที่ชิชุโอกะด้วย

สำหรับประเทศที่เกิดสึนามิไม่บ่อย เมื่อเกิดสึนามิขึ้นครั้งหนึ่งๆ จะสร้างความเสียหายได้มาก ดังเช่น การเกิดสึนามิในประเทศอินโดนีเซียเมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกาะสุลาเวสี เมืองปาลู มีคนเสียชีวิตและไร้ที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก สึนามิครั้งนี้เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวระดับ 7.5 ริกเตอร์ในทะเล นอกเกาะสุมาตรา อันเป็นบริเวณที่มีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิด

การเกิดแผ่นดินไหวบนบกนั้น ไม่ทำให้เกิดสึนามิ แต่อาจทำให้มีคลื่นสูงเพียง 1-2 เมตร แต่การเกิดแผ่นดินไหวในทะเล จะสามารถทำให้เกิดสึนามิได้ คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซียครั้งนี้สูงถึง 4.5 เมตร

จริงๆ แล้วประเทศอินโดนีเซียมีระบบเตือนภัยสึนามิที่นานาชาติบริจาคให้ เช่น ทุ่นลอยเตือนสึนามิ ที่มีการบริจาคให้อินโดนีเซียตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่มีการเกิดสึนามิขึ้นเป็นครั้งแรก โดยทุ่นลอยจะตรวจจับสึนามิจากช่วงความยาวของคลื่น

สาเหตุที่มีความเสียหายมากนั้น ไม่ได้เกิดจากทุ่นลอยเหล่านี้เสีย ใช้งานไม่ได้ หรือบกพร่องแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะทุนลอยเหล่านี้เป็นทุ่นลอยที่ใช้ในมหาสมุทร ทะเลลึก ใช้สำหรับตรวจจับคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ แต่การเกิดสึนามิครั้งนี้เกิดใกล้บริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นน้ำตื้นกว่า ทำให้ทุ่นลอยเหล่านี้ตรวจสอบไม่พบสึนามิ

การเกิดสึนามิขึ้นครั้งนี้ ประเทศอินโดนีเซียมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วยกเลิกไป ภายในเวลาไม่กี่นาที ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า ไม่มีสึนามิเกิดขึ้นแล้ว จึงไม่มีการระวังตัว ไม่มีการอพยพหลบหนี เมื่อคลื่นมาถึงไม่สามารถหลบหนีได้ทันแล้ว

นอกจากนี้ทางการอินโดนีเซียยังได้ส่งข้อความเตือนภัยสึนามิให้ประชาชนทราบผ่านทางข้อความ SMS เข้าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งประชาชนได้รับข้อความดังกล่าว แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านข้อความนั้น

การเกิดสึนามิครั้งนี้มีวีรบุรุษคือ นายแอนโทเนียส กูนาวัน อากุง ชายหนุ่มอายุ 21 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศของสนามบินใกล้เมืองปาลู เมื่อคลื่นสึนามิมาถึง หอบังคับการบินสั่นสะเทือนจะทลายลงมา ทุกคนพากันหลบหนี แต่นายอากุงยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ต่อเพียงคนเดียว เพื่อส่งเครื่องบินของสายการบินบาติกแอร์ให้ขึ้นจากรันเวย์ได้อย่างปลอดภัย และนำผู้คนไปยังจุดหมายปลายทางอื่น เมื่อเครื่องบินขึ้นแล้ว หอบังคับการบินสั่นสะเทือนมาก นายอากุงจึงตัดสินใจกระโดดลงมา ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในที่สุด เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนวินาทีสุดท้าย

นอกจากผู้คนจะเสียชีวิตเป็นจำนวนมากแล้ว สึนามิยังทำลายที่อยู่อาศัยในเมืองปาลู และเมืองใกล้เคียงอย่างราบคาบ แม้บ้านบางหลังจะไม่พังพินาศ แต่ทางการไม่ให้เจ้าของบ้านกลับเข้าพักอาศัย เพราะเกรงจะเกิดอันตราย ทำให้ผู้รอดชีวิตทั้งหมดต้องพักอาศัยอยู่กลางแจ้ง ขาดอาหารและน้ำสะอาดสำหรับบริโภค

เมื่อเกิดความเสียหายร้ายแรงขึ้นกับประเทศอินโดนีเซีย จึงควรที่จะมองย้อนมาถึงประเทศไทยว่า เราเตรียมการรับมือกับสึนามิไว้ดีพอหรือยัง ประเทศไทยมีมาตรการป้องกันภัยจากสึนามิของกรมอุตุนิยมอยู่หลายประการ เช่น เมื่อรู้สึกสั่นสะเทือนขณะที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง ให้ไปยังบริเวณที่สูง หรือที่ดอนทันที โดยไม่ต้องรอประกาศจากทางการ เนื่องจากสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง หากมีการลดระดับน้ำทะเลมากที่ชายฝั่งหลังเกิดแผ่นดินไหวให้อพยพขึ้นที่สูง และหากมีประกาศของทางการเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในทะเลอันดามันให้เตรียมพร้อมสำหรับการรับมือสึนามิ

หากที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ชายหาด ควรสร้างเขื่อน กำแพง ปลูกต้นไม้ วางวัสดุ เพื่อลดแรงปะทะของน้ำทะเล และสร้างที่อยู่อาศัยให้มีความแข็งแรง และหลีกเลี่ยงการสร้างที่พักอาศัยบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง ทางด้านผังเมืองควรได้รับการจัดวางให้เหมาะสม โดยบริเวณที่อยู่อาศัยควรมีระยะห่างจากชายฝั่ง และมีการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น กำหนดสถานที่ในการอพยพ แหล่งสะสมน้ำสะอาด ให้ประชาชนได้รับรู้และตระหนัก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มีผู้ให้ข้อมูลว่า หอเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยที่มีอยู่หลายหอนั้น บางหอไม่ทำงาน บางหอมีต้นไม้ขึ้นพันแน่น ขาดการบำรุงรักษา บางหอสัญญาณดังขึ้นเอง โดยไม่มีภัยสึนามิ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ควรมีการตรวจตรา บำรุงรักษา และเปลี่ยนเครื่องมืออุปกรณ์อยู่เสมอ เพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยไม่ทราบว่าเมื่อใด

นอกจากนี้ ยังขาดการฝึกซ้อมระบบเตือนภัยเพื่อเตรียมการรับมือกับสึนามิอย่างสม่ำเสมอ ทั้งที่ตามปกติควรมีการฝึกซ้อมกันปีละ 2 ครั้ง หากมีภัยสึนามิเกิดขึ้นจะอพยพไม่ทัน ขาดความคล่องตัว และเกิดความเสียหายได้มาก

ดังนั้น เมื่อเห็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศอินโดนีเซียแล้ว เราควรเพิ่มความระมัดระวัง และเตรียมพร้อมให้มากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะสายเกินไป และเกิดความเสียหายรุนแรง

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น