รักคุณเท่าฟ้า
ลงพิมพ์ในแนวหน้า : 16 พฤศจิกายน 2561
ดร. รุจิระ บุนนาค
16 พฤศจิกายน 2561

ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในช่วงตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สายการบินไทยที่มีคำขวัญว่า “รักคุณเท่าฟ้า” ในกรณีเที่ยวบิน TG971 ซูริค-กรุงเทพฯ ตารางการบินวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ล่าช้ากว่าสองชั่วโมงครึ่ง ด้วยสาเหตุจากนักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้น เพราะที่นั่งของนักบินที่จะโดยสาร (Deadhead Pilot) ไม่ได้นั่งเฟิร์สคลาส (First Class) ทำให้ผู้โดยสารกว่า 300 คนนั่งรอ และในที่สุดได้มีผู้โดยสารสามี-ภรรยาคู่หนึ่ง อดีตข้าราชการระดับสูง ได้ยอมสละที่นั่งที่จองไว้ล่วงหน้าให้ มิฉะนั้นเครื่องคงไม่ได้ออกจากสนามบิน พร้อมกับได้ทำหนังสือถึงบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงกรณีนี้

Deadhead Pilot หมายถึง นักบินที่เดินทางไปด้วยบนเที่ยวบิน โดยไม่ได้ทำหน้าที่ระหว่างไฟลท์ แต่เดินทางไปเพื่อทำหน้าที่หลังจากไฟลท์หรือเดินทางกลับบ้าน

การทำงานของนักบินตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เรื่อง การกำหนดข้อจำกัดเวลาทำการบิน และเวลาปฏิบัติหน้าที่ พ.ศ.2559 กำหนดให้สายการบินสามารถจัดให้นักบินทำการบินได้ไม่เกิน 34 ชั่วโมงบินภายในเจ็ดวัน 110 ชั่วโมงบิน ภายใน 28 วัน และไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงบิน ภายใน 365 วัน

นอกจากกำหนดเรื่องชั่วโมงการทำงานรวมแล้ว ประกาศฉบับนี้ ยังกำหนดเรื่องช่วงเวลาปฏิบัติหน้าที่การบินสูงสุดในแต่ละครั้งที่ทำการบิน โดยกำหนดชั่วโมงทำงานต่อเนื่องไว้แตกต่างกันตามแต่ชนิดของเครื่องบิน และจำนวนนักบินที่ใช้ในแต่ละครั้ง ทั้งยังกำหนดเรื่องเวลาพักผ่อนหลัง และก่อนทำการบินด้วยว่า จะต้องพักกี่ชั่วโมงถึงจะกลับไปบินได้ เช่น หากช่วงเวลาปฏิบัติการบิน ( FDP-Flight Duty Period) ไม่เกิน 8 ชั่วโมง ต้องมีช่วงเวลาพักผ่อน(Rest Period) ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง จึงสามารถให้ปฏิบัติหน้าที่การบินต่อไปได้

ตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ นักบินจะต้องอยู่ในภาวะตื่นตัวตลอดเวลา การพักผ่อน อย่างเต็มที่ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ความเครียด (Stress) ความเหนื่อยล้า (Fatigue) ย่อมส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย ตลอดเวลาที่ทำการบิน ร่างกายและจิตใจ เรียกได้ว่าต้องเต็มร้อย เพราะถ้าขาดไปแม้แต่เสี้ยวหนึ่ง นั่นคือ ความปลอดภัยของผู้โดยสารทั้งลำ การจำกัดชั่วโมงการทำงานของนักบิน จึงมีความจำเป็นมาก

       ที่นั่งโดยสารบนเครื่องบินที่ทำให้นักบินสามารถพักผ่อนได้ดีที่สุด คือ ที่นั่งชั้นหนึ่ง หรือเฟิร์สคลาส (First Class) เพราะสามารถนอนราบได้ถึง 180 องศา ทำให้พักผ่อนอย่างเต็มที่ นักบินจะเลือกที่นั่งนี้ ทั้งนักบินสามารถใช้เหตุผลของการเลือกที่นั่งได้ว่า เพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่  ตามประกาศของ กพท. ซึ่งในความเป็นจริง ผู้โดยสารไม่อาจทราบได้ว่า ข้อเท็จจริง ตารางการบินของนักบิน จะเป็นอย่างไร  แต่เพื่อความถูกต้องเหมาะสม  เพื่อส่วนร่วม  เมื่อมีการร้องขอ ต้องมีผู้โดยสารที่สละที่นั่งให้ 

กรณีเที่ยวบิน TG971 ทางเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้เชิญผู้โดยสารที่จองตั๋วมาให้เปลี่ยนที่นั่ง โดยให้เหตุผลว่า มีคณะนักบินที่ต้องการเดินทางกลับ 4 คน และต้องการที่นั่งดังกล่าว และหากไม่เปลี่ยนจะไม่ยอมบิน จนทำให้ผู้โดยสารอดีตข้าราชการอาวุโส ที่จองตั๋วมา โดยกำหนดเลขที่นั่งไว้ล่วงหน้า ต้องยอมเปลี่ยนที่นั่งเพื่อให้เที่ยวบินเดินทางต่อไปได้นั้น

ต่อมา ได้มีการนำเสนอข้อมูลว่า ตั๋วเครื่องบินที่อดีตข้าราชการอาวุโสซื้อไว้ และจองที่นั่งไว้เป็นที่นั่งแบบธุรกิจ แต่เครื่องบินลำที่จะมารับเสีย การบินไทยจึงจัดเครื่องบินลำใหม่ให้ เป็นคนละรุ่นที่ใกล้เคียงกัน ทำให้เลขที่นั่งคลาดเคลื่อน เลขที่นั่งที่จองไว้ล่วงหน้าในเครื่องบินลำใหม่ลำที่มารับเป็นที่นั่งชั้นหนึ่ง แต่ปัจจุบันไม่ได้ขายตั๋วราคาชั้นหนึ่ง ขายราคาที่นั่งชั้นธุรกิจ ดังนั้น การให้ย้ายที่นั่ง เพื่อให้ที่นั่งแบบชั้นหนึ่งแก่นักบิน และให้อดีตข้าราชการอาวุโสย้ายไปนั่งชั้นธุรกิจ แต่เป็นที่นั่งอื่น ไม่ได้ทำให้เสียสิทธิ แต่ขาดการสื่อสารที่ดี

เรื่องนี้ได้ทำให้การบินไทยสายการบินแห่งชาติ และสายการบินที่ได้ยอมรับในระดับสากล ได้ตกเป็นจำเลยของสังคม เพราะในโลกโซเชี่ยลได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในทางลบ

จนในที่สุด เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แถลงข่าวถึงผลสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีเที่ยวบินที่ TG 971 ล่าช้าว่า เกิดจากปัญหาของกระบวนการทำงาน และความบกพร่องของทั้งนักบิน และนายสถานีซูริค ที่ปฏิบัติงาน โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้โดยสารและองค์กรเป็นอันดับแรก อันเป็นการขัดกับจริยธรรมในหลักการธรรมาภิบาลที่ดีของบริษัท

การแถลงข่าวไม่ใช่จะมีแต่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แต่ยังมีผู้บริหารระดับสูงหลายท่านที่ร่วมกันนั่งแถลงข่าว และเมื่อถึงช่วงเวลาที่ได้ขอโทษต่อการกระทำที่เกิดขึ้น ทั้งหมดได้พร้อมใจกันยืนขึ้น และยกมือไหว้อย่างพร้อมเพรียง และน้อมรับคำตำหนิติเตียนต่างๆ (มีลักษณะคล้ายกับบริษัทญี่ปุ่นขนาดใหญ่ ที่ผู้บริหารระดับสูงขอโทษประชาชนที่เป็นผู้บริโภค ในกรณีที่ทำผิด) และยืนยันว่า บทลงโทษจะเป็นไปตามระเบียบวินัยขององค์กร และการเยียวยาผู้โดยสารจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรต้องรับผิดชอบร่วมกัน พร้อมเดินหน้าแก้ไขฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งภายในและภายนอกองค์กร

การแถลงข่าวกับการน้อมรับต่อคำกล่าวโทษ พร้อมกับการยกมือไหว้อย่างพินอบพิเทาแบบไทยๆ พร้อมกับการรับปากว่า จะลงโทษกับบุคลากร ถือว่าเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง ทั้งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อลูกค้า ถือว่าเป็นเรื่องถูกต้องที่คำนึงถึงลูกค้าก่อน แม้ต่อมาจะไม่มีการนำแถลงข่าวว่า ได้มีการลงโทษบุคลากรดังกล่าวอย่างไร หรืออาจไม่มีการลงโทษใด ๆ โดยใช้มาตราการเพียงแค่ตักเตือน เชื่อว่า คนไทยส่วนหนึ่งยอมรับและให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น และหากเหตุการณ์นี้ ทำให้บุคลากรต้องถูกลงโทษตามระเบียบวินัย ย่อมถือเป็นบทเรียน เพื่อไม่ให้บุคลากรอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

           จากข้อมูล Skytrax สถาบันวิจัยบริการการบินชั้นนำของอังกฤษ ที่ได้จัดอันดับสายการบินที่ให้บริการดีที่สุดในโลกทุกๆ ปี 
           โดยใช้เกณฑ์เรื่องของความพึงพอใจของผู้บริโภค รวมไปถึงความได้มาตรฐานในด้านต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นเครื่อง 
           ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกต่อผู้โดยสาร และคุณภาพในการให้บริการ  
           เป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 สายการบินไทยติดหนึ่งในสิบ 
           แม้จะอยู่รั้งอันดับสิบ โดยอันดับหนึ่ง คือ สิงคโปร์แอร์ไลน์ (Singapore Airline)

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนล้ำค่า ที่จะทำให้การบินไทย แก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เพื่อจะได้ติดหนึ่งในสิบอันดับของสายการบินที่ให้บริการดีที่สุดตลอดไป

Marut Bunnag Copyright @2020

 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า

Policy

1. Send only queries related to laws only.
2. Do not use rude words, or words which implicate other persons.
3. The sender of a message to the legal board must be responsible for his/her statement.

เงื่อนไขการใช้งานกระทู้คำถาม

1.สำหรับส่งคำถามที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายเท่านั้น
2.ห้ามมีคำหยาบคาย พาดพิงบุคคลอื่น ทำให้เกิดความเสียหาย
3.ผู้ที่ส่งคำถามลงในกระดานกฏหมาย ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อความนั้น